คิดเห็นแชร์ : การส่งออกสินค้าอาหารของไทย ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งวิกฤต "ความมั่นคงทางอาหารโลก"
ในช่วงปี 2565 ทั่วโลกเผชิญกับความวิตกกังวลต่อความไม่เพียงพอของอาหารเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ ความไม่สงบในยูเครนที่กระทบต่อการผลิตอาหารโลก เนื่องจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกธัญพืชอันดับต้นๆ ของโลก ไม่สามารถส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์
ขณะเดียวกันแร่โปแตชและก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตแม่ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น และกระทบต่อการผลิตพืชทั่วโลก นอกจากนี้ หลายประเทศยังได้จำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตอาหาร จึงยิ่งผลักดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มที่หลายประเทศกังวลว่าอาหารจะไม่เพียงพอ และแสวงหาแหล่งนำเข้าอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศของตน
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางช่วงเวลาดังกล่าวกลับกลายเป็นโอกาสของไทยที่ยังคงบทบาทการเป็น “ครัวของโลก” ได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถเป็นแหล่งส่งออกอาหารสำคัญหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าอาหารประเภทเกษตรแปรรูปแก่ผู้นำเข้าทั่วโลก โดยมีแนวโน้มนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจากข้อมูล The International Trade Centre หรือ Trademap บ่งชี้ว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 7 ของโลก (รองจากสหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย มาเลเซีย และแคนาดา) โดยสินค้าสำคัญที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอั
นดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ไก่แปรรูป (อันดับ 1) น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร (อันดับ 2) เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ (อันดับ 4) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นภาพสะท้อนได้ดีของบทบาทข้างต้น และช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่หลายประเทศ
สถานการณ์ส่งออกสินค้าอาหารของไทย เป็นอย่างไร :
ย้อนดู การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 27,738.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 938,602 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 15.1 สินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย (+156.9%) ข้าว (+27.1%) ไก่แปรรูป (+23.8%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+14.9%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+13.1%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (+10.1%) ขณะที่ด้านตลาดส่งออกหลักที่ขยายตัว อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์
หากพิจารณาตลาดส่งออกเป็นรายภูมิภาค ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังเอเชียตะวันออกมากที่สุด มูลค่า 12,014.1 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่า 6,089.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อเมริกาเหนือ มูลค่า 3,492.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ยุโรป มูลค่า 2,306.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ตะวันออกกลาง มูลค่า 1,323.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และแอฟริกา มูลค่า 1,086.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
เอเชียตะวันออก ขยายตัวร้อยละ 21.4 ขยายตัวแทบทุกตลาด (ยกเว้นจีนและฮ่องกง) ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มองโกเลีย มาเก๊า โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ลำไยกระป๋อง มะม่วงกระป๋อง ผลไม้รวมกระป๋อง น้ำผลไม้ผสม) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (หมึกกระป๋อง กุ้งกระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ปลาแปรรูป) เส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยว ซอส (ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง ซอสมะเขือเทศ เครื่องแกงสำเร็จรูป) นมและผลิตภัณฑ์นม และไอศกรีม
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายตัวร้อยละ 133.7 ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ กุ้งต้มสุกแช่เย็น น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ โกโก้และของปรุงแต่ง ไข่ไก่ กาแฟ ซอส (ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง) ไอศกรีม ผักกระป๋องและแปรรูป (ข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง เห็ดแปรรูป พืชผักดองด้วยน้ำส้ม) ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ลิ้นจี่กระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำผลไม้ผสม สับปะรดแปรรูป) ขนมปังกรอบ และเส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยว
อเมริกาเหนือ ขยายตัวร้อยละ 44.6 ขยายตัวในตลาดแคนาดา สหรัฐ โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ กุ้งกุลาดำสด แช่เย็น แช่แข็ง เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ซอส (ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ) ไก่แปรรูป ข้าว ขนมปังกรอบ ผลไม้แห้ง น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งกระป๋อง ปลาแปรรูป หมึกแปรรูป) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ลิ้นจี่กระป๋อง ลำไยกระป๋อง น้ำผลไม้ผสม สับปะรดแปรรูป)
ยุโรป ขยายตัวร้อยละ 40.6 ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เบลเยียม ไอร์แลนด์ โรมาเนีย ฟินแลนด์ เป็นต้น โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง (ทูน่ากระป๋อง กุ้งกระป๋อง) ผลไม้กระป๋อง (สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำส้ม) เส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ บิสกิต วาฟเฟิล และเวเฟอร์ เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ข้าว กล้วยสด มังคุดสด ลำไยแห้ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป
ตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 109.8 ขยายตัวแทบทุกตลาด (ยกเว้นเยเมน) โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง กาแฟ หมึก เนื้อปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (ทูน่ากระป๋อง) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (สับปะรดกระป๋อง เงาะกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำผลไม้ผสม) แป้งข้าวเหนียว บิสกิต วาฟเฟิล และเวเฟอร์ และสิ่งปรุงรสอาหาร (ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา)
แอฟริกา ขยายตัวร้อยละ 211.9 ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ แทนซาเนีย เคนยา เซเชลส์ โมร็อกโก กาบอง แซมเบีย เซเนกัล เป็นต้น โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ซุปและอาหารปรุงแต่ง ผักกระป๋องและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋อง (ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง)
การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ทำอย่างไร :
ตั้งแต่ต้นปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง และมีแผนงานสำคัญ “อาหารไทย อาหารโลก” ในการผลักดันการส่งออกอาหารไทยไปทั่วโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าอาหารของไทย เดินหน้าทำการตลาดเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับศูนย์การค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น
การเชิญผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาร่วมงาน THAIFEX-ANUGA 2022 การพาคณะเอกชนไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของต่างประเทศ เช่น Gulfood 2022, Foodex Japan 2022 เป็นต้น รวมถึงการจัดทำ Mini-FTA เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดในเมืองรองที่มีศักยภาพของประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยเจาะตลาดให้แก่สินค้าอาหารไทยได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันลงนามไปแล้ว 5 ฉบับ คือ ไห่หนาน โคฟุ เตลังคานา กานซู่ และปูซาน
ท้ายนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะยังคงขยายตัวเป็นบวกในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยเฉพาะสินค้าอาหารแปรรูป และไทยจะยังคงบทบาทการเป็นครัวของโลก และเป็นแหล่งอาหารสำคัญให้แก่ผู้คนหลายภูมิภาคของโลกต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 ตุลาคม 2565