ทำความรู้จัก "แม่น้ำโขง" ระบบนิเวศลุ่มน้ำทรงคุณค่า ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าการว่ายน้ำข้าม
"แม่น้ำโขง" 1 หนึ่งใน 10 แม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก พรมแดนธรรมชาติของประเทศไทยด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ สายน้ำสำคัญที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่โบราณ และกำลังจะแปรเปลี่ยนไปจากน้ำมือของมนุษย์ จนพูดได้ว่าธรรมชาติของแม่สายนี้เข้าขั้นวิกฤต และอาจไม่สามารถกลับมาเป็นดั่งเดิมได้อีกครั้ง
“แม่น้ำโขง” มีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และ แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศ ถึง 6 ประเทศ เริ่มตั้งแต่ประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร จนได้รับการบันทึกให้เป็น 1 หนึ่งใน 10 แม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก
นอกจากความยาวที่ติดอันดับโลกแล้ว แม่น้ำโขงยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้แม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด เกือบทุกปีนักวิทยาศาสตร์จะระบุชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้รับการค้นพบเพิ่มขึ้นและระบุถึงจำนวนชนิดพันธุ์ที่ยังคงรอการค้นพบ และยังมีสัตว์บางชนิดที่สามารถได้เพียงในแม่น้ำแห่งนี้เท่านั้น เช่น “ปลาบึก” ปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ ที่มีขนาดถึง 3 เมตร
ในประเทศจีนแม่น้ำโขงยังเป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สายสำคัญ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำสาละวินในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน พื้นที่ดังกล่าวนับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูงแต่ในปัจจุบัน ผู้คนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่แม่น้ำโขงมีมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำสายนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ หนึ่งในนั้นคือผลกระทบจาก “โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า” ซึ่งในปัจจุบันจากข้อมูลในการสำรวจได้มีการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่แม่น้ำโขงเกือบสิบแห่ง ซึ่งการสร้างเขื่อน และการปล่อยน้ำจากเขื่อนนั้นได้ทำให้ระดับน้ำขึ้น – ลงเกิดภาวการณ์ผันผวนของระดับน้ำที่ผิดฤดูกาลสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำ
โดยปกติระบบนิเวศแม่น้ำโขงช่วงต้นฤดูฝนน้ำจะหลาก ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาเริ่มวางไข่ แต่ด้วยการปล่อยน้ำของเขื่อนที่ไม่คำนึงถึงฤดูกาล ทำให้ปลาเกิดการสับสนฤดูกาลผสมพันธุ์ เป็นผลทำให้ลูกปลาที่เกิดในฤดูแล้งที่มีการปล่อยน้ำมาจากเขื่อน มีอัตราการรอดชีวิตน้อย เนื่องจากการปล่อยน้ำไม่คงที่ หากน้ำที่ปล่อยมาไหลผ่านไปแล้วระดับก็จะแห้งลงเหมือนปกติ ลูกปลาก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เหมือนช่วงน้ำหลาก ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของชาวบ้าน ชาวประมง ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งที่พึ่งพาแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา
นอกจากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแล้ว แม่น้ำโขงก็ยังได้รับผลกระทบในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นกัน อาทิ การทำประมงเกินขนาด มลพิษจากขยะที่ทิ้งไม่ถูกวิธี การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ แม่โขงสายน้ำแห่งชีวิตนี้ จึงควรได้รับความเป็นห่วง และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะหากนานวันวิกฤตนี้อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป
ที่มา : MGR Online