"สมคิด" เร่งรัฐบาลเคลื่อนโครงการใหญ่อีอีซี 5 แสนล้าน ดึงเชื่อมั่นนักลงทุน
บทบาทของ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมามีบทบาททางการเมืองในการเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายชุด นับตั้งแต่การเข้าร่วมงานการเมืองกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะขึ้นมาควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจด้วย
เมื่อเข้าสู่รัฐบาลทักษิณ 2 ในช่วงปี 2548-2549 “สมคิด” ยังเข้าร่วมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนพ้นวาระเมื่อมีรัฐประหารเมื่อปี 2549 จากนั้นได้ลดบทบาททางการเมืองลง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รวมทั้งถูกแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2558 ต่อจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่พ้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไป โดยหนึ่งในผลงานสำคัญของ “สมคิด” คือ การร่วมผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
“สมคิด” ที่ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอยู่ตลอด ได้ออกมาให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยระบุว่า จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในโครงการใหญ่ที่รัฐบาลจะใช้สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ คือ EEC โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้มีการเปิดประมูล และได้เอกชนที่เป็นผู้ลงทุนในโครงการแล้ว
“โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใน EEC หากรัฐบาลสามารถผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ชัดเจนสักหนึ่งโครงการก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติหันกลับมามองประเทศไทยว่าโครงการอีอีซียังเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นโครงการที่จะสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว” สมคิด กล่าว
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่เป็นที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของประเทศไทยที่น่ากลัว เพราะนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมไฮเทคสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้เวียดนามสามารถต่อยอดไปได้ในอีกหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้เวียดนามมีความน่าสนใจทั้งในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาถึง 13% และอีกข้อได้เปรียบของเวียดนาม คือ ทางด้านการเมืองที่เวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูงมาก
“นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในประเทศไหนจะมี 2 เรื่องที่ให้ความสำคัญ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งตอนนี้เวียดนามมีข้อได้เปรียบไทยในส่วนนี้ เราต้องทำให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีจุดขาย ซึ่งเรื่อง EEC ก็เป็นนโยบายที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยได้โดยรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในโครงการนี้เดินหน้าให้ได้ตามแผนที่วางไว้”
รัฐบาลต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่ารัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการเหล่านี้ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลจริงจังในการขับเคลื่อนโครงการ EEC และยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)"
แนะเร่ง 2 โครงการใหญ่ลงทุนกว่า 5 แสนล้าน
ทั้งนี้มีโครงการขนาดใหญ่ใน EEC ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษหลายโครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก งบการลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท รวม 2 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 514,544 ล้านบาท
แนะนายกฯเลือกเลขาฯอีอีซีคนใหม่ทำงานเป็น-ไว้ใจได้
สำหรับการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คนใหม่แทน “คณิศ แสงสุพรรณ” ที่หมดวาระตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.2565 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคนใหม่
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวถือเป็นอำนาจในการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพอ.ที่จะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่า ตำแหน่งเลขาธิการฯ ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญเพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเลือกบุคคลที่เหมาะสมสามารถทำงานเป็นจริงๆ และเป็นที่ไว้ใจได้ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการสำคัญของประเทศ
อีอีซีเข้าเฟสขยายตัวสำคัญปี 69
ก่อนหน้านี้ สกพอ.รายงานว่า ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า EEC ได้มีการวางแผนพัฒนาในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 ซึ่งจะทำให้ EEC ก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569 เป็นต้นไป
สำหรับเป้าหมายในช่วงปี 2566-2570 จะผลักดันให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจ EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนอื่นๆ ได้แก่
1.การสนับสนุนการลงทุน 5G ของไทยเร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดใน อาเซียน นำหน้าประเทศอื่น ๆ ประมาณ 2 ปี ทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิทัล หันมาลงทุนใน EEC อนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
2.การลงทุนเพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนโยบาย EV ของรัฐบาลไทยนำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ตั้งใจจะเป็น Hub การผลิตของอาเซียนต่อไปทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิต EV เข้ามาลงทุนใน EEC รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถ EV
3.เทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness การที่ EEC ได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัวโดยแบ่งงานกันทำทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้ง จีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความสนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงดังกล่าวจะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้งโรงพยาบาลชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์
4.สนับสนุนการสร้างศูนย์นวัตกรรมสำคัญ เริ่มดำเนินการ EECi เสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี EECd ส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 2565
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ