"ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ" ขึ้นแท่นธุรกิจดาวรุ่ง ยังโตต่อเนื่อง 15%
ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในไทยมีมานานกว่า 20 ปี แต่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันมีมากกว่า 10 แบรนด์ มากกว่า 30,000 ตู้ แต่ยังกระจุกตัวในกรุงเทพ ภาคตะวันออกรวมแล้วมากกว่า 60%
โครงสร้างธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยธุรกิจตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ 60% และตู้จำหน่ายขายสินค้าอื่น ๆ 40% ส่วนแบรนด์หลัก ๆ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูง เช่น ซัน 108 ของกลุ่มสหพัฒน์ฯ เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาด มีสินค้าหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ
รองลงมา เวนดิ้งพลัส ของกลุ่มสบาย เทคโนโลยี จำหน่ายสินค้าตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม หน้ากากอนามัย และตู้เต่าบินที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2564 ของกลุ่มฟอร์ท เวนดิ้ง และในช่วง 2 ปีที่ผ่าน ธุรกิจนี้ยังขยายตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีแนวโน้มที่เติบโตดีต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง คลอบคลุมสินค้ามากมาย โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน
ในปี 2564 รายได้ของธุรกิจนี้อยู่ที่ประมาณ 6,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เล็กน้อย หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา
สำหรับในปี 2565 จำนวนตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ขยายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติในเชิงรุก โดยมีแผนกระจายไปยังจุดต่างๆ ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม บริษัท อาคารสำนักงาน สถานศึกษา
ปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นธุรกิจดาวรุ่ง และเติบโตแบบก้าวกระโดด
ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบาย และคุ้นชินมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 มีสินค้าที่หลากหลาย และการพัฒนาของระบบชำระเงินที่มีทั้ง เงินสด พร้อมเพย์ สแกนจ่าย และกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นทางเลือกธุรกิจค้าปลีก ประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะพื้นที่เช่า พนักงาน อย่างในตึกออฟฟิศขนาดใหญ่ใน กทม. หรือ คอนโดมิเนียม มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก ค่าเช่าตั้งตู้อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อเดือน นอกจากถูกแล้ว ยังขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับร้านทั่วไป
ความหนาแน่นของตู้ต่อประชากรไทยยังต่ำ สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 366 คน เมื่อพิจารณาจากจำนวนตู้อัตโนมัติทั่วประเทศราว 30,000 ตู้เทียบกับประชากร 11 ล้านคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตู้อัตโนมัติมากสุด ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี สัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่องต่อประชากร 255 คน และสิงคโปร์ 1 เครื่องต่อประชากร 360 คน ส่วนญี่ปุ่น มีความหนาแน่นต่อประชากรที่มากที่สุดในโลก มีตู้ขายสินค้าอัตโนมัติกว่า 4 ล้านเครื่องคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วโลก 1 เครื่องจะครอบคลุมประชากรญี่ปุ่นราว 30 คน
กลยุทธแฟรนไชส์ต่อยอดธุรกิจขยายสาขา เจาะเมืองท่องเที่ยว เมืองใหญ่ ทำเลย่านชุมชน
ที่มา : PPTV Online