ชงบอร์ด ทอท. ไฟเขียว 3.6 หมื่นล้าน แปลงโฉมดอนเมือง รับทัวร์ริส 50 ล้านคน

เล็งชงบอร์ด ทอท. เคาะออกแบบดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้าน ปลายปี’66 หวังรองรับนทท. 50 ล้านคน
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ว่า ขณะนี้ ทอท. ได้ผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design) โครงการฯ วงเงินกว่า 600 ล้านบาทแล้ว จะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาได้ในปลายปี 2566 หากเห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 ต่อไป
 
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2570 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ ทดม. ได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 30-40 ล้านคนต่อปี เป็นประมาณ 50 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 ประกอบด้วย การก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ เพิ่มเติม 12 หลุมจอด ปรับปรุงอาคารคลังสินค้าเดิม และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ซึ่งเดิมเป็นอาคารในประเทศ และถูกปิดใช้งานมานาน โดยจะทุบรื้อสร้างเป็นอาคารระหว่างประเทศหลังใหม่
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 แล้วเสร็จ ทอท. จะย้ายการให้บริการระหว่างประเทศจากอาคาร 1 มาที่อาคาร 3 แทน จากนั้นจะปิดการให้บริการอาคาร 1 เพื่อดำเนินการปรับปรุง(รีโนเวท) อาคารดังกล่าว หลังจากไม่ได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะปรับการให้บริการของอาคาร 1 เป็นอาคารภายในประเทศ เชื่อมต่อกับอาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารภายในประเทศหลังปัจจุบัน ส่วนพื้นที่ของอาคารเซอร์วิส ฮอลล์ (Service Hall) หากในอนาคตพบว่า ไม่มีความจำเป็นในการรองรับกรุ๊ปทัวร์แล้ว เพราะกรุ๊ปทัวร์ส่วนใหญ่จะใช้บริการอาคารระหว่างประเทศ ก็จะปรับเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้บริการร้านค้า และร้านอาหารแทน
 
นอกจากนี้ ทอท. จะเพิ่มช่องจราจรที่ให้บริการภายใน ทดม. ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 4 ช่องจราจร ปรับเป็น 6 ช่องจราจร และจะเชื่อมต่อทั้งทางเข้า-ออกกับทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่ออำนวยความะสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้บริการ และลดปัญหาจราจรติดขัดใน ทดม. ด้วย โดยในส่วนของทางเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น ต้องหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) พิจารณาร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานระหว่าง ทล. และบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ รวมถึงการลงทุนส่วนที่ยื่นออกไปนอกรั้ว ทดม. ที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมืองฯ ต้องเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นบริษัทฯ ยังไม่ได้ตอบรับ เพราะกำลังจะหมดสัญญาสัมปทาน
 
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (เอพีเอ็ม) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ที่จะให้บริการภายใน ทดม.นั้น ไม่ได้รวมอยู่ในโครงการพัฒนาดอนเมือง เฟส 3 จะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านใต้ของ ทดม. ซึ่งจะเปิดประมูลต่อไป อย่างไรก็ตาม อาคารผู้โดยสารทั้ง 3 อาคาร ผู้โดยสารยังสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ทั้ง 3 อาคาร ระยะทางไม่มากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้ APM ได้ แต่หากมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้านใต้ จำเป็นต้องมี APM เพราะมีระยะทางห่างจากอาคารผู้โดยสารค่อนข้างมากกว่า 1 กิโลเมตร (กม.)
 
ที่มา : มติชน
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)