เสียงสะท้อน "เอสเอ็มอี" ความหวังหลังเลือกตั้ง
เศรษฐกิจฐานรากในวันนี้เป็นอย่างไร ขณะที่กำลังใกล้เลือกตั้งใหญ่ ก่อนจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยและ ธุรกิจ เอสเอ็มอี น่าจะสะท้อนต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญได้ดีที่สุด และอะไรคือความคาดหวังที่รายย่อยต้องการมากที่สุด โดยส่องผ่านไปยังพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่
หนึ่งความเห็น แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายรัฐดีในทุกเรื่อง แต่ยังมีหลายเรื่องที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกว่าที่เคยปฏิบัติ ในสถานการณ์ประเทศมีงบประมาณจำกัด และทุกหน่วยงานกำหนดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควรเป็น เช่น แต่ละกรมหรือกระทรวงต่างกำหนดแผนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ตั้งงบน้อยบ้างมากบ้าง ทำให้งานที่ได้ไม่ได้เป็นชิ้นใหญ่และต่อเนื่อง งบที่ลงไปกับตัวเลขเกิดขึ้นจริงไม่ท้าทาย ดังนั้น อยากให้รัฐบาลใหม่สานต่อนโยบายเดิมและเสริมในทางปฏิบัติ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดจากกำลังคนที่มีและงบประมาณให้เกิดอย่างคุ้มค่าผ่าน 5 เรื่อง 5 บูรณาการ ได้แก่
1.บูรณาการมาตรการ ระหว่างกรมและกระทรวงต่างๆ โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนกลาง เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำงานจากต่างคนต่างหน่วยงานทำ แต่ยังทำในเรื่องเดียวกัน ให้มาเป็นทีมทำงานร่วมและแบ่งงานตามความถนัด
2.บูรณาการงบประมาณ เดิมแต่ละหน่วยงานตั้งงบกันเอง ต่างคนต่างใช้ น้อยบ้างมากบ้างแต่ก็เป็นการจัดสรรจากงบประเทศ ควรเป็นการตั้งงบเสริมร่วม 5 ปี เพิ่มจากงบปกติ โดยมีการวางกลยุทธ์ กำหนดตัวดัชนีชี้วัดผลงาน และกรอบการใช้งบประมาณ เหมือนอย่าง สศช.ก็มีการกำหนดแผน 5 ปี หน่วยงานที่บูรณาการทำงานร่วมก็ควรมีแผนระยะยาวด้วย
3.บูรณาการกำลังคน เห็นด้วยที่จะผลักดันเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยให้แต่ละหน่วยงานเสริมเครื่องมือและเทคโนโลยีในการทำงาน ช่วยลดภาระกำลังคนเดิม และขยายงานที่ยังต้องใช้กำลังคนในการพัฒนา รวมข้อมูลและการให้บริการเป็นหนึ่ง หรือจัดทำบล็อกเชน จะช่วยลดงบประมาณและลดต้นทุนเอสเอ็มอีในการไปติดต่องาน ลดปัญหาทุจริต และลดการใช้กระดาษอย่างแท้จริง
4.บูรณาการวิธีการ เปลี่ยจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล ก้าวเข้ายุค sustainability ที่ผ่านมามาตรการดีแต่วิธีการไม่ใช่ จากนี้จะทำอย่างไรให้รายย่อยเข้าถึงมาตรการได้จริง ที่เข้าถึงแล้วจะต่อยอดต่อเนื่องได้อย่างไร ทำอย่างไรจะเพิ่มจำนวนให้ทวีคูณ ลดงานซ้ำซ้อน และรายย่อยหรือเอกชนเข้าร่วมในการหารือภาครัฐเพื่อนำไปสู่วิธีการตามยุคสมัย อย่างปัจจุบันหน่วยงาน
ด้านข้อมูลที่สำนักงานในทุกจังหวัด แต่พบว่าการเข้าใช้บริการหรือเข้าถึงได้น้อยมาก เฉพาะเอสเอ็มอีพบว่าทั่วประเทศเข้าถึงมาตรการไม่ถึง 2 แสนราย หรือไม่ถึง 10% ของจำนวนเอสเอ็มอีทั่วประเทศ
5.บูรณาการตัวชี้วัด วันนี้มีแต่เป้าหมายว่าตั้งการขายตัวของจีดีพีประเทศอย่างไร เป้าขยายตัวภาคส่งออกเท่าไหร่ แต่ไม่มีเป้าจะขยายจีดีพีของเอสเอ็มอีว่าแต่ละปีจะเป็นเท่าไหร่ อยากให้รัฐเพิ่มความสำคัญต่อการผลักดันขยายตัวของจีดีพีเอสเอ็มอีและลงลึกใน 3 กลุ่มเลย ทั้งจีดีพีรายย่อย รายกลาง และปานกลาง เพื่อให้แต่ละส่วนได้วางแผนผลักดันและงบประมาณที่เข้าถึงได้จริง เอสเอ็มอีอยากให้มีการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการส่งออกจากเอสเอ็มอีให้เกิน 20% ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ จากอยู่ที่ 13% มาหลายปี เช่น ปี 2565 ไทยส่งออกรวม 8 ล้านล้านบาท แต่เกิดจากเอสเอ็มอีส่งออก
ได้แค่ 1 ล้านล้านบาท
รัฐบาลใหม่หากทำได้ 5 สิ่งที่เสนอไว้ จนเกิดเป็นรูปธรรม จะช่วยขับเคลื่อนจีดีพีเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้ขยับมานาน จากระดับ 35% ของจีดีพีรวมประเทศไทย ให้เพิ่มได้กว่า 1% ภายในปีเดียว ขยับเป็นสัดส่วน 36-37% ซึ่งที่ผ่านมาปีใดที่เศรษฐกิจรวมขยายตัวดีก็จะมีผลต่อจีดีพีเอสเอ็มอีขยับไม่เกิน 0.5% ถือว่าน้อยมาก ปัญหาที่ทำให้จีดีพีเอสเอ็มอีโตไม่ได้มาก
มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ เอสเอ็มอีมีหนี้สะสมมากและรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยที่ไม่อาจเข้าถึงมาตรการรัฐได้อย่างแท้จริง อีกปัจจัยคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวและไม่ทั่วถึงจนส่งผลถึงเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากกำลังซื้อแท้จริงและรายได้ไม่ได้ฟื้นเท่าเดิม ทำมาหาได้เฉพาะประคองตัว รักษาอาชีพ เลี้ยงครอบครัวพอได้ สภาพคล่องเพื่อการลงทุนใหม่ต่ำมาก ยังมีรายย่อยอีกจำนวนมาก เข้าไม่ถึงแหล่งทุนหรือมาตรการรัฐที่ประกาศออกมาในหลายปีมานี้ นายแสงชัยกล่าว
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอียังได้นำความต้องการของรายย่อยเสนอถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ให้เร่งดำเนินการทันที ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ เป็นกองทุนเพื่อการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย และ 2.แก้หนี้ครัวเรือนอย่างมีคุณภาพ โดยแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่ไม่อาจเข้าถึงมาตรการได้จริงและลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ
ข้างต้นหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ และเกือบทุกเรื่องคำตอบที่ได้ยังไม่ตรงปก-โจทย์ปัญหาที่แท้จริง ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน
ที่มา : มติชน