เอ็กซ์โปลิงค์ ดึง 20 ประเทศหนุนไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียน
ธุรกิจฟื้นตัวปลุกโลจิสติกส์คึกคัก คาด 5 ปีไทยขึ้นฮับอาเซียน เหตุปัจจัยหนุนเพียบ "เอ็กซ์โปลิงค์" ดึง 20 ประเทศกว่า 100 แบรนด์ร่วมงาน LogiMAT 2023 โชว์นวัตกรรม พร้อมเจรจาซื้อขายส่งผลเงินสะพัด 1,000 ล้าน เติบโต 1 เท่าตัว
นายอํานาจ ประกอบสุข เลขาธิการนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทุกกลุ่มต่างจำเป็นต้องใช้คลังสินค้าเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคลังสินค้าของตัวเองหรือการใช้บริการคลังสินค้าภายนอก โดยในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์ไทย มีมูลค่าการลงทุน 6,000 - 8,000 ล้านบาทเติบโต 5-8%
เนื่องจากการระบาดของโควิดขณะที่ในปีนี้คาดว่าทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน EEC ที่จะกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มที่ ประกอบกับธุรกิจ e-commerce ยังคงมีการเติบโตมาก พร้อมกับ courier express parcel ที่เติบโตอย่างมาก ดังนั้นคาดว่าในปีนี้การลงทุนในอุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์ไทยจะเติบโตราว 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 8,000 ล้านบาท
“ขณะนี้สมาคมพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยเป็นเซ็นเตอร์ในโซนเอเชียแปซิฟิกภายใน5 ปี อย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะตอนนี้ในเอเชียยังไม่มีประเทศไหนเป็นเจ้าใหญ่ เป็นงานหนักของสมาคมที่จะต้องร่วมกันผลักดันร่วมกับผู้สนับสนุนโดยโฟกัสไปที่เวียดนามก่อนเรากำลังมองหานักลงทุนและนักธุรกิจจากเวียดนามมาออกบูธโซนเวียดนามพาวิลเลี่ยนในงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse 2023
เพราะตอนนี้เวียดนามมาเร็วและมาแรง จุดเด่นคือเมื่อผู้นำตัดสินใจ ขั้นตอน กฏเกณฑ์และการสนับสนุนต่างๆจะวิ่งได้เร็ว ส่วนในประเทศไทยผู้ประกอบการพยายามทำให้อุตสาหกรรมเกิด แต่ติดด้วยเงื่อนไขทางการเมือง ข้อกำหนดทางกฎหมาย ทำให้สกัดกั้นการเติบโตของภาคเอกชนพอสมควร อย่างไรก็ดีมองว่ามีความเป็นไปได้ว่าไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียนได้ในระยะเวลา 5 ปี”
ด้านนายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จํากัด กล่าวว่า ไทยสามารถเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้ เพราะในแง่ของภูมิศาสตร์ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ส่วนในเรื่องของ Transport หรือการบินไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมีไฟลต์บินมากที่สุดในอาเซียนหากมีการขยาย Terminal 2 ที่สุวรรณภูมิเสร็จสิ้นจะมี Landing Fight ให้ลงมากขึ้น
ซึ่งจะขยายไปถึงการขนส่ง เช่นสายพานกระเป๋า Transport เข้าสู่คลังสินค้า และจะสามารถขนส่งขนสินค้าและกระจายเข้าสู่อาเซียนได้ดีมากขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่คลังสินค้าและจะต้องเป็นคลังสินค้าอัจฉริยะ เมื่อมีการส่งออกมากขึ้นระบบคลังสินค้าและการลงทุนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“ตอนนี้ต้นทุนในการขนส่งหรือค่าโลจิสติกส์ ประเทศเยอรมนีสามารถทำได้ดีที่สุดในโลก ขณะที่ไทยมีต้นทุนที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าระบบโลจิสติกส์เราดีและสามารถเชื่อมโยงแต่ละประเทศได้และใช้ระบบคลังสินค้าอัจฉริยะในการกระจายสินค้าจะเป็นการทรานฟอร์มอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเรื่องการขนส่งทั้งระบบราง รถ เรือ อาจจะต้องพัฒนาให้เร็วกว่านี้ และอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องพัฒนาตามกันไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ Digital เพื่อลดต้นทุน”
อย่างไรก็ตามในปีนี้ เอ็กซ์โปลิงค์ เตรียมนำงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse งานแสดงสินค้าสุดยอดเทคโนโลยีระบบคลังสินค้า อัจฉริยะและระบบจัดการกลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ โดยจะเพิ่มพื้นที่จัดงานจาก 5,000 ตรม.เป็น 10,000 ตรม.และเพิ่มงบลงทุนจาก 10 ล้านบาทเป็น 15 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 100 แบรนด์ คาดว่าสามารถจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 6,000 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้เข้าร่วมจัดแสดง 45 บริษัท จาก 7 ประเทศ คือ ไทย เยอรมนี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และจีน
“ปีนี้เรามีการเตรียมพร้อมและขยายในส่วนของ cold chain เพราะตอนนี้ cold chain storage เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราพยายามกระตุ้นให้ผู้ที่มาร่วมออกบูธนำเสนอเทคโนโลยี cold chain มากขึ้น และเน้นการจัดเวทีพูดคุยและให้ความรู้ของอุตสาหกรรมกว่า 25 เซคชั่นจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น Young Gen Showcase, คลินิกให้คําปรึกษา
นอกจากนี้ยังมีทีมโปรโมทงานไปทั่วโลก รวมทั้งเยอรมันพาวิลเลี่ยน ไต้หวันพาวิลเลี่ยนและ ไชน่าพาวิลเลี่ยน ด้วยซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจองพื้นที่กว่า 40% แล้ว ส่วนผู้เข้าชมงานในปีนี้จะส่วนกลุ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S Curve ทั้งหมดโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารยาเคมี รถยนต์ แม้กระทั่งสถาบันทางการเงิน โดยเราพยายามจะโปรโมท visitor ให้เยอะขึ้นผ่านทุกแพลตฟอร์มรวมถึงการเชิญแบบgroup visitor ซึ่งปีที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จด้วยดี โดยปีนี้เราวางเป้าหมายมูลค่าการซื้อขาย 1,000 ล้านบาทเท่าตัวจากปีที่แล้วปี 500 ล้านบาท”
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ