เอกชนเชียร์สะพัดแสนล้าน "สศช." วอนเลือกตั้งอย่าขัดแย้งรุนแรง
สศช.ชี้ทิศทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเมืองและการเลือกตั้งใหญ่ ขอให้ช่วยกันรักษาบรรยากาศไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงเพราะส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ด้านเอกชนเชียร์เลือกตั้ง ขอตั้งรัฐบาลใหม่ให้ไว หวังนโยบายกระตุ้นรอบใหม่คาดเม็ดเงินเลือกตั้งสะพัดเฉียดแสนล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 เป็นประเด็นสำคัญของการบริหารเศรษฐกิจ สศช.ได้ให้น้ำหนักกับการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรักษาบรรยากาศทางการเมืองในปีนี้ไม่ให้มีความขัดแย้งที่รุนแรง
ทั้งนี้ จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่เนื่องจากในปีนี้มีการเลือกตั้งจึงทำให้ยังมีการชะลอการลงทุนออกไปบางส่วน แต่เชื่อว่าหากสามารถรักษาบรรยากาศทางการเมืองในปีนี้ไม่ให้มีความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ภายหลังการเลือกตั้งนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนทำให้มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น
นายดนุชา กล่าวด้วยว่า สศช.คาดการณ์ว่าในปี 2566 ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจมหภาคปีนี้นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนรวมที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% เป็นการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.1% จากปีก่อน จากปีก่อนหน้าขยายตัวถึง 5.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ลดลงจาก 4.9% ในปี 2565 โดยมีกรอบการเบิกจ่ายงบประมาณการใช้จ่ายการลงทุนในปี 2566 ประมาณ 664,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.8%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยมีอัตราที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 โดยข้อมูลจากบีโอไอระบุว่า มีการขอรับการส่งเสริม 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เป็นมูลค่า 664,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,554 โครงการ ลดลง 1% แต่มีมูลค่า 618,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และการออกบัตรส่งเสริม จำนวน 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% เป็นมูลค่า 489,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21%
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีการประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน เพื่อที่ทั้งนักการเมือง และภาคธุรกิจจะได้เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐบาลจะได้พิจารณาประเด็นที่ยังค้างอยู่ให้เรียบร้อย ซึ่งในระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่า ไม่น่ากระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวมาก เนื่องจากแผนงานต่างๆกำลังเดินหน้าได้ดี ทั้งการท่องเที่ยวและการดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพและมั่นคง มีผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนตามระบอบประชาธิปไตย จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติได้แน่นอน
“ในช่วงเลือกตั้งเชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนเยอะพอสมควรตามที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ 80,000-90,000 ล้านบาท และอยากให้มีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อให้พิจารณา และใช้งบประมาณให้ทัน รวมทั้งจะได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป”.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์