เอกชน ขอรัฐออกแพคเกจกระตุ้นส่งท้ายก่อนเลือกตั้ง รันเศรษฐกิจช่วงสุญญากาศ
เอกชน ขอรัฐออกแพคเกจกระตุ้นส่งท้ายก่อนเลือกตั้ง รันเศรษฐกิจช่วงสุญญากาศ ฉะรัฐตั้งเป้าคนจนสูงถึง20ล้านคน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง อยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเดินหน้าโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในช่วงการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง เนื่องจากกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหารประเทศ คงได้เห็นในเดือนพฤษภาคม ฉะนั้น ในช่วงรอยต่อระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม หรือประมาณกลางไตรมาส 2/2566 ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันโครงการที่ค้างอยู่ในมือออกมา อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการด้านการท่องเที่ยว และโครงการที่แก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในส่วนของหนี้ครัวเรือน และหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เรื่องการปรับโครงสร้างน้ำมันดีเซล และเรื่องค่าไฟฟ้า ต้องทำทุกเรื่องให้ชัดเจนเพื่อเป็นแผนทิ้งทวน เพราะในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการอาจจะผลักดันเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เท่าที่ควร
ส่วนเรื่องการพัฒนาอื่นๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภาพใหญ่ คงต้องไปรอดูการพัฒนาในช่วงหลังการเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วรัฐบาลมีการบ้านที่ต้องทำเยอะ รวมถึงแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายใหม่ๆ ที่เตรียมให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ เพราะในปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) เติบโตต่ำมาก อยู่ที่ 2.6% และในไตรมาสที่ 4/2565 เติบโตเพียง 1.4% ซึ่งผิดจากคาดการณ์ เนื่องจากการส่งออกเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต้องแก้ แต่ประเทศไทยมีสุญญากาศในช่วงเลือกตั้ง จึงยังไม่มีคนมาแก้โจทย์ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้จึงทำให้ไทยกลับมาเหลือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว คือภาคการท่องเที่ยว
ส่วนประเด็นที่มีประชาชนผ่านเกณฑ์บัตรคนจนรอบแรก 14.5 ล้านคน จากเป้าหมาย 20 ล้านคน นั้น เรื่องนี้มองได้หลายนัยยะ แต่อันดับแรกการที่ตัวเลขไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ใครบ้างอยากจะให้มีคนจนถึง 20 ล้านคน ซึ่ง 14.5 ล้านคนถือว่าเยอะมากแล้ว จากก่อนที่รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีคนจนเพียง 7 ล้านคน แต่พอทำความเข้าใจได้เพราะในครั้งนี้เป็นการคัดเลือกประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี แต่ความจริงแล้วควรแยกให้ชัดเจน เพราะในจำนวนดังกล่าวมีทั้งประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี และต่ำกว่า 50,000 บาทต่อปี
“รัฐบาลควรแยกประเภทให้ชัดเจน เพราะคนจนกับคนมีรายได้น้อยต่างกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตั้งคำถามว่ารัฐบาลบริหารงานอย่างไรให้ประเทศมีคนจนถึง 14.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่มีประมาณ 67 ล้านคน แต่มองว่าประชาชนที่มีรายได้ 50,000-100,000 บาทต่อปี ไม่ควรบัญญัติให้เป็นคนจน ควรให้เป็นเงินช่วยเหลือในส่วนของผู้มีรายได้น้อย เพื่อแยกคนจนออกไปให้ชัดเจน เพื่อการช่วยเหลือที่ตรงจุดประสงค์มากขึ้น” นายธนิตกล่าว
ที่มา : มติชน