ตรวจแถว Q2 "บริโภค ส่งออก ลงทุน" ธุรกิจผวาเงินเฟ้อ กัดเซาะ เศรษฐกิจ

กําลังผ่านพ้นไตรมาสแรกปี 2566 เข้าสู่ไตรมาส 2 ที่มาพร้อมกับช่วงจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในไทย ดังนั้น การเมืองไทยจะร้อนแรงไม่แพ้ความขัดเแย้งของสงครามภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นยืดเยื้อในขณะนี้ จึงใช้โอกาสนี้ตรวจแถวทิศทางการใช้จ่าย การบริโภค การลงทุน และการส่งออก เสาหลักขับเคลื่อนประเทศ เพื่อให้คนไทยและธุรกิจได้รู้เขารู้เราและรู้ว่าจะตั้งรับกันอย่างไร!
 
ขึ้นมาต้นปี 2566 ทุกภาคส่วนมองภาพสวย ความเชื่อมั่นดีขึ้น มุมมองต่อเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังผ่อนคลายเต็มร้อยจากมาตรการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 กิจกรรมต่างๆ กลับมาทำได้อีกครั้ง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นอีกครั้ง สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้ามาเที่ยวไทย เฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านคนแล้ว แต่เมื่อลงลึกเจาะถึงกลุ่มธุรกิจ ตอบในทิศทางเดียวกัน คือ ยังไม่เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง ทำให้ยังระมัดระวังและประหยัดมากที่สุด
 
สะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา พบว่า น้อยกว่าคาดไว้ อย่างผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ไม่ได้สดใสเท่ากับที่คาดหวังไว้ และส่วนใหญ่ต่ำกว่าคาดการณ์ด้วย ภาคส่งออกเดือนมกราคมยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นำเข้ามากขึ้น จนไทยขาดดุลการค้าทำสถิติ 10 ปี แต่ยังหายใจได้คล่องกับเงินบาทกลับมาอ่อนค่า มองกันถึงหลุด 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เงินลงทุนต่างชาติเน้นเข้าเร็วออกไว เพื่อเก็งกำไรมากกว่าลงทุนยาว!!
 
ที่หนักอกสุดในตอนนี้ คือ ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ไม่ได้ลดลง ตรงกันข้ามหลายประเทศกลับเจอวิกฤตเงินเฟ้อพุ่งทำสถิติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในยุโรป บางประเทศเจอเงินเฟ้อ 20% สหรัฐก็ทรงตัวระดับสูง เรื่องนี้หากปล่อยให้ยืดเยื้อเหมือนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ย่อมลามไปถึงการฟื้นตัวของการบริโภค ส่งออก และลงทุน
 
แล้วคนวงการธุรกิจมองอย่างไร!
 
ไทยสวนโลกคาดเงินเฟ้อเริ่มต่ำ
 
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีความกังวลต่อเรื่องภาวะเงินเฟ้อยังมี แต่ประเมินว่าเงินเฟ้อไทย มองทิศทางในไตรมาส 2/2566 จะปรับลดลงเทียบกับไตรมาส 1/2566 สาเหตุจากราคาพลังงานที่ชะลอตัวลงเป็นหลัก โดยความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ อาจเกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากฝั่งอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น หรือดีมานด์พลู ประเมินว่าอาจเห็นได้บ้าง แต่คงไม่ได้มากเหมือนที่คาดการณ์ไว้ เพราะเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ และยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัวในระดับกลางลงระดับล่าง โดยคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3% ลงมาอยู่ในกรอบของแบงก์ชาติที่ 1-3%
 
“ทำให้กำลังซื้อที่ยังพอมีอยู่และเติบโตได้ กระจุกตัวอยู่ในระดับกลางบน ถึงระดับบนขึ้นไปเป็นหลัก รวมถึงอยู่แค่ในจังหวัดหลักๆ ที่ได้รับความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติสูงเท่านั้นด้วย จึงประเมินว่าการเกิดภาวะเงินเฟ้อในด้านอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น อาจเกิดได้บ้าง แต่ไม่ได้มากเท่าที่กังวลไว้”
 
รับมือปรากฏการณ์ขึ้นราคา
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงถัดจากนี้ คือ การผลักภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เพราะในปี 2565 แม้มีการปรับต้นทุนขึ้นในหลายสินค้าและบริการ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เพียงพอกับต้นทุนที่ขึ้นมา เชื่อว่าผู้ประกอบการยังอั้นการขึ้นราคาไว้อยู่ โดยประเมินว่าจะเห็นการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการมากขึ้นในปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 นี้แบบคึกคักมากขึ้น
 
สำหรับความกังวลเงินเฟ้อยุโรปและสหรัฐที่อาจพุ่งแรงขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยนั้น มองว่าแม้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องนั้น แต่ภาพเศรษฐกิจที่ประเมินว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่กังวลกัน ทำให้ช่องว่างการเติบโตของอัตราค่าจ้างงาน ยังเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของคนไทย ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านภาคการท่องเที่ยวนั้น ประเมินว่าไม่น่าจะโดนกระทบ เพราะเป็นเรื่องของการเปิดประเทศท่องเที่ยว ทำให้คนที่อัดอั้นต้องการออกเดินทางเที่ยวมากอยู่ สะท้อนจากเม็ดเงินในฝั่งยุโรปที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามปัญหาซัพพลาย อาทิ จำนวนเที่ยวบินไม่เพียงพอกับความต้องการแทน
 
ห่วงส่งออกทรุดฉุดอารมณ์เที่ยว
 
ด้านที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือ ภาคการส่งออก เพราะปัจจุบันเราเห็นตัวเลขการส่งออกในหลายตลาดหลัก อาทิ เอเชีย ยังติดลบอยู่ในหลากหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าส่งออกหลักทั้งนั้น อย่างชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจให้เติบโตช้าได้ผ่านการส่งออกที่มีแนวโน้มติดลบในระยะสั้นนี้ แต่ไม่ได้กระทบกับภาคการบริโภค เพราะมองว่าจะฟื้นตัวได้จากภาคการท่องเที่ยว ที่มีรายได้กระจายตัวมากขึ้น ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น บวกกับไตรมาส 2 มีความพิเศษในเรื่องของการเลือกตั้งด้วย เพราะปัญหาของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ อยู่ในระดับล่างเป็นหลัก อาทิ ภาคการเกษตรที่ยังมีรายได้น้อย ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่คึกคักมากนัก
 
หวังเงินเลือกตั้งสะพัดสู่ฐานราก
 
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 นี้ น่าจะช่วยดันการใช้จ่ายให้เพิ่มมากขึ้นได้ แต่เป็นระยะสั้น ไม่ได้เป็นตัวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมแต่ก็จะเห็นการกระจายตัวมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยปัญหาที่มีตอนนี้อยู่ในด้านของการกระจายตัวเป็นหลัก แม้อาจกระจุกตัวในอุตสาหกรรมหลักที่จะฟื้นตัว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร กลุ่มท่องเที่ยวที่ยืนเด่นๆ เท่านั้น คงต้องหวังให้มีกิจกรรมหรือมาตรการอะไรออกมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในระดับล่างเพิ่มขึ้น หรือดันภาคการท่องเที่ยวให้เป็นตัวฟื้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะปัญหาตอนนี้อยู่ที่ภาคการส่งออกที่ยังแผ่วอยู่ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจโลกก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัว
 
การทยอยประกาศนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ที่เริ่มเดินหน้าหาเสียงกันอย่างต่อเนื่องนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจน ว่าจะสามารถตอบโจทย์กับทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ตามที่ประเมินไว้ โดยมองเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.นโยบายการให้เงินช่วยเหลือ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังดำเนินต่อไป 2.การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ ที่อาจช่วยเพิ่มกำลังซื้อระดับล่างได้ แต่ก็ต้องดูว่าจะกระทบกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหรือไม่ และ 3.โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะดำเนินต่อไปหรือไม่ เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ให้ความสนใจในประเด็นนี้ ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าอย่างไร ทำให้มีนักลงทุนบางส่วนยังชะลอการลงทุนใหม่ เพื่อรอดูนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ก่อน
 
ธุรกิจบริการผวาเงินเฟ้อระอุ
 
ขณะที่ ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ระบุว่า ปัจจัยท้าทายที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2566 หลักๆ เป็นเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยช่วงไตรมาส 1/2566 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นนั้น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มยุโรปและสหรัฐ เข้ามาติด 5 อันดับแรกแต่ในช่วงถัดจากนี้จะชะลอตัวลง แม้จะมีประเทศเอเชียเข้ามาทดแทน อาทิ เกาหลีใต้ อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่เนื่องจากวันพำนักในไทยน้อย เทียบกับยุโรป สหรัฐ ที่เฉลี่ยจะพักประมาณ 10 วัน โดยเราหวังว่าอุปสรรคเหล่านี้จะใช้เวลาในการคลายตัวอย่างน้อย 1 ปีต่อจากนี้
 
การเงินและการบริการ ถือเป็น 2 ธุรกิจ มักได้รับผลกระทบก่อนเพื่อน เมื่อมาสะกิดพิษเงินเฟ้อ ก็ควรฟังไว้
 
 
ทีมา : มติชน
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)