ครม.ไฟเขียวเว้นภาษีระดมทุนผ่าน "โทเคนดิจิทัล" เพิ่มทางเลือกเอกชนระดมทุน

ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและ VAT จากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เพิ่มทางเลือกการระดมทุน คาดสูญรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาทช่วงระดมทุน 2 ปีแรก
 
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
 
ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) อันเนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ)
 
เพื่อให้มาตรการภาษีของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเท่าเทียมกับมาตรการภาษีของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน
 
ทั้งนี้ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) คือ โทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยผู้ถือโทเคนเพื่อการลงทุน จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนแบ่งของกำไรและส่วนแบ่งรายได้
 
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกามีสาระสำคัญ ดังนี้
 
1.ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ
 
(1)บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนต่อประชาชน (ในตลาดแรก)
 
และ (2)บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ในตลาดรอง)
 
2.สิทธิประโยชน์ทางภาษี
 
(1)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษีอันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดแรก)
 
 
ทั้งนี้ กรณีโทเคนดิจิทัลที่ออกเสนอขายต่อประชาชนมีลักษณะของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่น ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีข้างต้นเฉพาะกรณีที่สามารถแยกส่วนของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่นออกจากกันได้เท่านั้น
 
 
(2)ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (ตลาดรอง)
 
3.ระยะเวลาบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับ)
 
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากฎหมายฉบับนี้ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือแบบดั้งเดิม เช่น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตร และหุ้นกู้ อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ
 
รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง ยังส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้มากขึ้นในระยะยาว โดยมาจากการเติบโตของผู้ประกอบธุรกิจและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ใช้โทเคนเพื่อการลงทุนเป็นเครื่องมือในการระดมทุนในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2566 ถึงปี 2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 128,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25,600 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 8,960  ล้านบาท
 
ดังนั้น ประมาณการการสูญเสียรายได้ของภาครัฐ ในช่วง 2 ปี ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. คาดการณ์รวมภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 35,279 ล้านบาท
 
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)