"แอร์ไลน์" เก่า-ใหม่สุดคึกคัก งัดสารพัดกลยุทธ์ ปลุกอุตฯการบินยุคหลังโควิด

"สายการบิน" ทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ แห่งัดสารพัดกลยุทธ์ ปลุกดีมานด์ความคึกคักแก่อุตสาหกรรมการบิน "พาที สารสิน" คัมแบ็กรอบ 5 ปี เปิดตัวสายการบินใหม่ป้ายแดง "เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส" ประเดิมบิน "ญี่ปุ่น" สิ้นปีนี้ ด้าน "บางกอกแอร์เวย์ส" ตั้งเป้าปี 66 ฟื้นรายได้ 1.5 หมื่นล้าน
 
“สายการบิน” ธุรกิจปราบเซียน กลับมาคึกคักในยุคหลังโควิด-19 เมื่อแอร์ไลน์ใหม่ป้ายแดงขอแจ้งเกิด สบจังหวะช่วงธุรกิจคลี่คลายฟื้นตัว ผงกหัวขึ้นมาได้ หลังมีคนบาดเจ็บล้มตายในช่วงมหาวิกฤติทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วม 3 ปี ฟากสายการบินรายเดิมที่ยังเป็นผู้รอดชีวิต แม้จะมีการลดขนาดธุรกิจและยุบเส้นทางบิน ปัจจุบันต่างเร่งฟื้นฟูรายได้ กลับมาทำการบินเส้นทางในและระหว่างประเทศกันอีกครั้ง
 
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส (Really Cool Airlines) กล่าวว่า วานนี้ (22 มี.ค.) ได้เปิดตัวสายการบินใหม่ชื่อ เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส วางตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบินแบบ Lifestyle Full Service ผสมผสานกับนวัตกรรมด้านการบริการและเทคโนโลยี ภายใต้สโลแกน "We Fly The Future"
 
กำหนดเริ่มทำการบินเดือน ธ.ค.นี้ กลุ่มเส้นทางแรกที่จะให้บริการคือ ญี่ปุ่น และอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน สอดรับกับกลยุทธ์หลักเน้นเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกล (Long Haul) ซึ่งจะเปิดเส้นทางสู่ยุโรปและโอเชียเนียด้วย เช่น ลอนดอน ปารีส และออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นบลูโอเชียน การแข่งขันไม่สูงมาก และคาดว่าสัดส่วนผู้โดยสารกว่า 70% จะเป็นชาวต่างชาติ
 
++ ‘พาที’ ถือหุ้นหลัก 51%
 
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท อาร์ซี แอร์ไลน์ส จำกัด ผู้ให้บริการ เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส จะเป็นชาวไทยทั้งหมด 100% โดยนายพาที สารสิน ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด 51% ส่วนที่เหลืออีก 49% เป็นของกลุ่มเพื่อนจากหลายวงการ เช่น เทคโนโลยี ไม่เคยลงทุนหรืออยู่ในธุรกิจสายการบินมาก่อน แต่มีแพสชันอยากพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาต่อยอด
 
“คาดว่า เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส จะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating License: AOL) ในเร็วๆ นี้ จากนั้นถึงจะสามารถขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operating Certificate: AOC) ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ราวเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ โดยแผนการใช้เครื่องบิน ช่วงเริ่มต้นจะมีฝูงบิน 4 ลำ มาจากการเช่าเครื่องบิน อาจใช้แอร์บัส A330 สิ้นปีนี้รับมอบก่อน 2 ลำ และต้นปี 2567 รับมอบอีก 2 ลำ”
 
++ สานสัญญาใจเพื่อน เปิดแอร์ไลน์สุดเจ๋ง
 
นายพาที กล่าวว่า จากประสบการณ์ในแวดวงสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจปราบเซียน มีความเสี่ยงสูง ยาก และท้าทายอย่างมากมาเกือบ 20 ปี ถามว่าเข็ดไหม ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีก่อน (ตอนลาออกจากซีอีโอสายการบินนกแอร์ เมื่อเดือน ก.ย.2560) คำตอบคือเข็ด เพราะตอนนั้นเราอยู่ในที่สว่าง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งชอบ ไม่ชอบ ชื่นชม และหมั่นไส้ จึงออกจากวงการและไม่เคยคิดจะกลับมา
 
แต่เมื่อตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจสายการบินอีกครั้ง ต้องยอมรับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เหตุผลหลักคือการสานต่อสัญญาที่เคยให้ไว้กับนายนัตดา บุรณศิริ อดีตซีอีโอ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ว่าจะก่อตั้งสายการบินใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่วงการร่วมกัน เริ่มคิดวางแผนก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือน มิ.ย.2565
 
“ผมเป็นเพื่อนกับคุณนัตดา เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วเขาขอให้ผมเป็นที่ปรึกษาของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ผมเคยบอกกับเขาว่า เราจะทำให้สายการบินใหม่นี้มันเจ๋งไปด้วยกัน เราสัญญาว่าจะช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินให้มีอะไรใหม่ แต่โชคร้ายที่คุณนัตดาเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผมจึงตัดสินใจว่าทำเองก็ได้ เดี๋ยวนำไอเดียในใจของเรา มาทำให้เกิดขึ้นจริง”
 
++ ย้ำนำบทเรียนอุดรูรั่ว รับมือเสี่ยงสูง-ศก.โลก
 
แม้ เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส จะเป็นสายการบินใหม่ แต่ไม่ใช่การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ พร้อมนำประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับจากตอนเป็นซีอีโอนกแอร์ และที่ปรึกษาของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาอุดรูรั่วต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายรอบด้าน เช่น เศรษฐกิจโลก ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงาน วิกฤติการเงินจากกรณีธนาคารล้มในสหรัฐ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงต้องวางแผนรับมือกับความเสี่ยงสูงเหล่านี้ให้ดี
 
ทั้งนี้ประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยยังฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลก และแนวโน้มราคาตั๋วเครื่องบินจะยังแพงแบบนี้ไปอีก 2-3 ปี เช่น เส้นทางญี่ปุ่น ราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับเฉลี่ยตอนนี้แพงมาก ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท เพราะอย่าลืมว่าสายการบินขาดทุนหนักมากจากวิกฤติโควิด ต้องตีโจทย์นำกำไรมาฟื้นฟูธุรกิจ จึงไม่น่าจะเห็นการลดราคาตั๋วเครื่องบินภายในเร็วๆ นี้แน่นอน
 
++ ‘P80 AIR’ ใต้ปีกกลุ่ม ‘มหากิจศิริ’ จ่อคิวถัดไป
 
รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจาก เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส ของนายพาที สารสิน แล้ว ยังมีสายการบินใหม่รายอื่นยื่นขอประกอบธุรกิจการบินกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่น่าจับตาคือสายการบินราคาประหยัดชื่อ P80 AIR จดทะเบียนจัดตั้งสายการบินในนามบริษัท พี80 แอร์ จำกัด มีเจ้าสัวประยุทธ มหากิจศิริ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นคณะกรรมการบริษัทฯ
 
โดย P80 AIR มีแผนให้บริการเทียบเท่าสายการบินฟูลเซอร์วิส จะเปิดเส้นทางบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง และตะวันออกกลาง เน้นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเมืองรองมาไทย ทั้งเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ใช้สนามบินดอนเมืองเป็นฐานปฏิบัติการบิน ทำการบินด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-800 ปีแรกจะเช่าเครื่องบิน 4 ลำ และจะขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 20 ลำภายใน 4 ปี
 
++ ‘พุฒิพงศ์’ ชี้ต่างแอร์ไลน์ ต่างแนวคิดธุรกิจ
 
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า พอหมดยุคโควิด-19 มีสายการบินน้องใหม่เปิดตัวเตรียมเข้ามาทำตลาด มองว่าแต่ละสายการบินต่างมีแนวคิดและหลักการทำธุรกิจแตกต่างกัน เช่น เรียลลี คูล แอร์ไลน์ส ที่มุ่งให้บริการเส้นทางระยะไกล ทางบางกอกแอร์เวย์สอาจจะไปร่วมมือ ทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) ก็เป็นได้ ส่วนสายการบิน P80 AIR ทราบมาว่าจะเน้นเปิดเส้นทางบินสู่จีน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการช่วยกันขนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจับจ่ายในไทยหลังจีนเปิดประเทศ
 
++ ‘บางกอกแอร์ฯ’ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1.5 หมื่นล้าน
 
นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว ทยอยฟื้นตัวและมีการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการบิน ในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 70-80% ของปี 2562 จากปัจจัยความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ยังคงแข็งแกร่ง การเปิดประเทศของหลายๆ ประเทศ และการผ่อนปรนนโยบายการเดินทางช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
 
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ 15 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง วางเป้าหมายในปี 2566 ในการดึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยและในภูมิภาค ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน และอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 76%
 
++ รุกขายตั๋ว ‘ต่างชาติ’ ผ่านเอเย่นต์ - OTA
 
นายคมกริช งามวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการแผนกลูกค้ารายใหญ่และผลิตภัณฑ์รายได้เสริม สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่าสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและพร้อมเดินทางจะกลับมาอย่างชัดเจน และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 60 % ของรายได้ทั้งหมด โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน BSP agents ในตลาดหลัก อาทิ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ และอีกกว่า 20 ตลาดทั่วโลก รวมถึงการขายผ่านเครือข่ายสายการบินพันธมิตรอีกกว่า 100 สายทั่วโลก และอีกช่องทางหนึ่งที่มุ่งเน้นในปีนี้คือ ช่องทางกลุ่มตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (OTA) ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก 
 
 นอกจากนี้ บริษัทได้แต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดเพิ่มขึ้นอีก 12 สำนักงาน รวมทั้งสิ้นเป็น 41 สำนักงาน โดยเป็นการเปิดสำนักงานในประเทศกลุ่มนอดิกส์หรือสแกนดิเนเวีย และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดในกลุ่มประเทศเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงฮ่องกง และออสเตรเลีย
 
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)