"หอการค้า" ขอรัฐบาลใหม่หนุนเพิ่มประชากร หลังยอดตายสูงกว่าเกิด หวั่นอนาคตขาดแรงงานหนัก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดเวทีเปิดมุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศโดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวหัวข้อการพัฒนาแรงงานไทยและการค้าระหว่างประเทศ นั้น
 
นายพจน์ กล่าวว่า ด้านแรงงานมีโจทย์ที่น่ากลัว ปัจจุบันข้อมูลในเดือนมกราคม 2566 จากประชากรคนไทยมีประมาณ 67.68 ล้านคน มีคนทำงาน 39.34 ล้านคน และมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 0.49 ล้านคน ถือว่าคนไทยไม่ตกงาน อย่างไรก็ตาม ในภาคกำลังแรงงานก็ยังขาดแคลนแรงงาน
 
ขณะที่ความน่าเป็นห่วงคือยอดผู้เสียชีวิต 5.9 แสนกว่าคน แต่ยอดการเกิดอยู่ที่ 5.02 แสนคน ยอดคนตายมากกว่ายอดเกิดถึง 9 หมื่นคน รัฐจึงจำเป็นต้องเร่งโปรโมตให้มีการเกิดมากขึ้น รวมถึงต้องผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่สนใจในการทำงานในระบบมากขึ้น เพราะคนไทยทำงานนอกระบบมากขึ้น
 
ความท้าทายเร่งด่วนด้านแรงงาน ประกอบด้วย 1. อัตราตอบแทนค่าจ้างที่เหมาะสมกับลูกจ้างและเศรษฐกิจ 2.ขาดแคนแรงงานไทย 3.แรงงานต่างด้าวอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น 4.การผลิตภาพแรงงาน ในส่วนนี้แรงงานขั้นต่ำเอกชนพร้อมได้ค่าแรงมากขึ้น
 
แต่ข้อมูลจริงค่าแรงงานไทยอยู่สูงกว่าแรงงานขั้นต่ำ ส่วนมากขั้นต่ำจะอยู่ที่แรงงานเข้มข้นคือต่างด้าว ซึ่งการเพิ่มขั้นต่ำจะเพิ่มรายจังหวัดไม่เหมือนกันตามการพิจารณาของไตรภาคี จึงไม่สามารถเพิ่มค่าแรงได้เท่ากันทุกจังหวัด
 
“การค้าระหว่างประเทศและแรงงานเป็นนโยบายของประเทศไม่ใช่นโยบายพรรค เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีสัดส่วน 70-80% ของจีดีพี เป็นนโยบายพักไม่ได้เพราะเชื่อว่าทุกพรรคต้องมองเรื่องนี้เป็นนโยบายของประเทศและกำหนดทิศทางให้เดินต่อไปใครสมบูรณ์แบบขึ้นกว่านี้”นายพจน์ กล่าว
 
ทั้งนี้ เป้าหมายที่ภาคเอกชนอยากเห็นในปี 2566 1.อัดฉีดงบประมาณและกำลังคนให้กระทรวงแรงงาน 2.คณะกรรมการไตรภาคีต้องปรับโครงสร้างและบูรณาการการทำงานที่สร้างสรรค์และพัฒนาแรงงานของประเทศไทย และ 3. ยกระดับงานประกันสังคมเพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทย
 
นายพจน์ กล่าวว่า จีดีพีประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่ง 2 จุดนี้เกี่ยวข้องกับ 2 หัวข้อโดยเฉพาะแรงงาน จะเกี่ยวกับการผลิตเพื่อการส่งออก และการท่องเที่ยวในภาคบริการโดยตรง
 
ในส่วนการภาคการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก ที่ผ่านมาจากรัฐทุกชุด และรัฐปัจจุบัน ดำเนินการในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นจากภาคเอกชนจากหอกการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการร่วมเอกชนในการประชุม กรอ. สะท้อนว่าตัวเลขการเติบโตได้และไม่ตกต่ำมากนัก
 
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันสิ่งสำคัญโลกเปลี่ยนโจทย์เปลี่ยน โดยเรื่องการค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึง 1.ภูมิรัฐศาสตร์ ไทยมีความจำเป็นต้องวางตัวเป็นกลางที่ต้องค้าขายกับทุกภูมิภาคโดยไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง
 
2.ไทยต้องเปิดกว้างในการนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนเพื่อการส่งออก 3.เร่งการเจรจาพหุพาคี ทวิพาคี หรือ FTA ในทุกจุดต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะไทยเสียเปรียบประเทศอื่นในเรื่องอัตราภาษี และเงื่อนไขที่ไทยเป็นปัญหา เช่น การบังคับใช้สิทธิ (CL) เรื่องมาตรการแรงงาน (LO8798)
 
“รัฐบาลหน้าจำเป็นที่ต้องค่อยๆ แกะ แต่แกะต้องให้เกิด บางอย่างจะไปทำใจทุกฝ่ายไม่ได้ แต่ต้องให้เกิด และ FTA กับเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย หลายข้อเป็นปัญหาประเทศก็สามารถต่อรองเพื่อยืดเวลาได้ซึ่งขณะนี้กรมเจรจาได้เจรจาอยู่จึงอยากฝากรัฐบาลต่อไปในอนาคตว่าควรเร่งในส่วนนี้”นายพจน์ กล่าว
 
และ 4.ทุกกฎหมายที่เป็นปัญหาหรือเงื่อนไขที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า จำเป็นต้องปลดล็อกเพื่อให้เอกชนทำงานคล่องตัวมากขึ้น ท้ายที่สุดอยากให้รัฐรับฟังเอกชน
 
ที่มา : มติชน
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)