ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินเปิดไม่ทันปี’70 อีอีซี ชงรบ.ใหม่แก้สัญญา เร่งเดินหน้าต่อ
ไฮสปีดเชื่อม3สนามบินเปิดไม่ทันปี’70 อีอีซี ชงรบ.ใหม่แก้สัญญา เร่งเดินหน้าต่อ เผยสนามบินอู่ตะเภาลดผู้โดยสารเหลือ12ล้าน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอีอีซี ว่า การเจรจาร่วมกับเอกชนในการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาข้อยุติแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการฯ ส่วนประเด็นที่ยังติดปัญหาในการแก้ไขสัญญาโครงการฯ คือ การชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด และการเพิ่มข้อความในการแก้ไขสัญญาฯใหม่ คือ เปิดโอกาสให้ผ่อนผันในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เพื่อเยียวยาเอกชน เพราะสัญญาเดิมเกิดก่อนโควิด-19 ไม่ได้มีการระบุข้อความหากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่มาจากปัจจัยภายนอก
อย่างไรก็ตามโครงการนี้คาดว่าจะเปิดบริการไม่ทันปี 2570 เนื่องจากเริ่มล่าช้าจากการแก้สัญญาโครงการฯ โดยสกพอ.ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (เอ็นทีพี) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แม้การแก้ไขสัญญาโครงการฯยังไม่แล้วเสร็จ แต่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อน ทั้งนี้ในการแก้ไขสัญญาแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการรฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ
“หากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ทางสกพอ.จะเร่งรัดเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน เป็นโครงการฯแรกที่ต้องเจรจาร่วมกับเอกชน เพื่อเตรียมรอรับรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแก้สัญญาฯ ต่อไป เมื่อเปิดให้บริการไฮสปีด 3 สนามบินแล้ว ในบริเวณพื้นที่รอบไฮสปีด 3 สนามบินจะพัฒนาได้ทันที รายได้โครงการฯเกิดจากการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะมักกะสันหากเปิดให้บริการจะเพิ่มรายได้ของโครงการฯได้” นายจุฬา กล่าว
ขณะที่โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ในส่วนของสนามบินอู่ตะเภามีเอกชนกังวลปริมาณผู้โดยสารลดลง สกพอ.ได้เจรจาร่วมกับเอกชนจนได้ข้อยุติแล้ว เบื้องต้นจะขยายแผนดำเนินงานออกเป็น 6 ระยะ โครงการฯจะนำร่องก่อสร้างเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารเหลือเพียง 12 ล้านคนต่อปี จากเดิม 15 ล้านคนต่อปี หากก่อสร้างได้ 80% หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการในระยะต่อไป ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์) ยังหาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ จากโควิด-19 จึงศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นพื้นที่โครงการบางส่วนสงวนสิทธิ์ให้การบินไทย 200 ไร่ ส่วนพื้นที่อื่นคู่สัญญาจะดึงนักลงทุนเข้ามา
ด้านโครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเรือ F วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างขุดลอกถมทะเล โครงการฯล่าช้า เนื่องจากโควิด อีกทั้งถมทะเลพื้นที่ต่ำเกินไป ต้องปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อไม่กระทบสัญญาร่วมทุนของโครงการฯ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จปลายปี 2567 หลังจากนั้นกทท.จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของสัญญาร่วมทุนของโครงการฯแก่เอกชนได้ภายในกลางปี 2568 โดยเอกชนจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างดำเนินการภายใน 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570
ที่มา : มติชน