รายได้ภาคเกษตร-ท่องเที่ยวหนุน "ความเชื่่อมั่นอุตฯ" สูงสุดรอบ10 ปี
ส.อ.ท. เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 2566 แตะ 97.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี ปัจจัยกำลังซื้อภูมิภาคพุ่งจากรายได้ภาคเกษตร-ท่องเที่ยวหนุน หวังรัฐสร้างสมดุลแหล่งพลังงานลดค่าไฟต่ำกว่า 4.40 บาท
ภาคอุตสาหกรรมคืออีกเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น เมื่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดีก็ย่อมสะท้อนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,322 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสะท้อนมุมมองต่อทิศทางอุตสหกรรมในปัจจุบัน
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานส.อ.ท. เปิดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 97.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนก.พ. 2566 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2556
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายของอุปสงค์ในประเทศ และกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และค่าไฟฟ้า ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวน ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเป็นอีกปัจจัยกดดันต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ตลอดจนความผันผวนของค่าเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 103.2 ในเดือนก.พ. เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การเปิดประเทศของจีน เป็นแรงสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
หวังรัฐทบทวนเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้า
นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองเลขาธิการ ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะที่ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้ 1. ขอให้พิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวดที่ 2 (เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566) ให้ต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย 2. ส่งเสริมการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศ MERCOSUR (เมร์โกซูร์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) โดยเฉพาะสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น 3) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการเผาป่าตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566
“ค่าเงินบาทขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลงทำให้เอกชนมีความกังวลลดลง เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจไทยเพราะเกษตรและท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น อีกทั้ง การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ 14 พ.ค. 2566 มีความชัดเจน ทำให้ความกังวลในประเด็นการเมืองก็ลดลง แต่สิ่งที่กังวลเพิ่มขึ้นคือ เศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยจริงในท้องตลาดจะเพิ่มขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าที่อยากให้ต่ำกว่า 4.40 บาท นั้นก็ยังคาดหวังว่าจะพิจารณาได้ทัน ซึ่งส.อ.ท. ได้เสนอแนวทางไปไปแล้ว โดยมุมมองถ้าคิดราคาตามหลักข้อมูลทางวิชาการนั้น มีแนวทางที่จะลดลงได้ ยืนยันว่าช่วงค่าไฟแพง เอกชนไม่ได้ปรับราคาสินค้า ซึ่งหากค่าไฟตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566 ลดลง ราคาสินค้าจะลดลงแน่นอน
“ตอนนี้ เรากังวลความสามารถในการแข่งขันต่างประเทศโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งค่าไฟถูกกว่าระดับที่ 2.50 บาท โดยที่ผ่านมาเราพยายามที่จะหารือให้อยู่ลงทุนในไทยต่อ ซึ่งเราก็คาดหวังว่าจะได้ราคาที่อยู่ในระดับเดิมก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนถูกกว่า 4 บาท ภาครัฐก็ขอข้อมูลมาตลอด ก็ยังคาดหวังว่าจะเปลี่ยนมติทัน และยังคาดหวังว่าปลายปีนี้จะลดลงเรื่อย ๆ อยาก ให้ค่าไฟกลับมาที่จุดเดิมประมาณ 4 บาท และคิดว่าราคาสินค้าจะปรับลงแน่นอน”
หวังการเมืองเปลี่ยนภูมิทัศน์ศก.ไทย
นอกจากนี้ ในช่วงเลือกตั้งที่จะถึงพรรคการเมืองมีนโยบายหลายเรื่อง ส.อ.ท. คาดหวังหลัก ๆ คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ยังมีทิศทางอยู่เรื่อย ๆ และมีการปรับทิศทางเรื่อย ๆ ทั้งการปรับข้อระเบียบของภาครัฐ มีข้อเรียกร้องจากสมาชิก ที่ไม่มีความคล่องตัว เป็นข้อจำกัดของธุรกิจ รวมถึงเรื่องของนวัตกรรมต่าง ๆ
“เรากังวลมาก ๆ คือนโยบายประชานิยม ซึ่งเข้าใจว่าวันนี้เศรษฐกิจต้องการการกระตุ้น เราก็ไม่ หวังว่ากลไกต่าง ๆ ของภาครัฐจะทำให้กระบวนการใช้เงินเป็นไปตามเป้าหมาย และอยากให้มองระยะกลางและระยะยาวว่า เงินที่ใช้นั้นแน่นอนว่าจะสร้างระบบเศรษฐกิจได้ ”
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า หากต้องการให้ค่าไฟลดลงกว่านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องทำตัวเลขการปรับรับค่าไฟฟ้าผันแปรมายังกกพ. เพื่อคำนวนใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามติที่ออกไปแล้วนั้น สำนักงานกกพ. ถือเป็นมติที่กฟผ. และไฟฟ้าจัดจำหน่ายรับทราบเรียบร้อยแล้ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ