ไฮไลท์การประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 42 : มังกร EV ติมอร์ และเมียนมา

อาเซียนซัมมิทครั้งแรกของปีนี้ กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 2023 โดยเจ้าภาพอินโดนีเซียตั้งธีมของการประชุมว่า “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” หรืออาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต
 
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์โพสต์บทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Piti Srisangnam วานนี้ (8 พ.ค.) ต้อนรับ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งแรกของปี 2023 ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคมนี้ โดยมีอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ เนื้อหาของบทความ “ถอดรหัส” ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ออกมาเป็น 4 คีย์เวิร์ด คือ มังกร EV ติมอร์ และเมียนมา มีรายละเอียด ดังนี้  
 
หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า #ASEANSummit ครั้งแรกของปี 2023 กำลังจะเริ่มแล้ว ในวันพรุ่งนี้ 9-11 พฤษภาคม 2023 โดยปีนี้เจ้าภาพอินโดนีเซียตั้ง Theme ของการประชุมตลอดทั้งปี ของอาเซียน ว่า “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” หรือ อาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต ซึ่งอินโดนีเซียจะเชิญผู้นำจากทั้ง 10+1 ประเทศ นั่นคือ Timor-Leste ไปประชุมกันที่เมือง Labuan Bajo (ลาปวน บาโจ)
 
เมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 1,900 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเกาะ Flores ในภูมิภาค Nusa Tenggara โดยส่วนตัว ผู้เขียนเชื่อว่า highlight ของประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้จะมาจาก 4 Keywords นั่นคือ #มังกร #EV #ติมอร์ และ #เมียนมา
 
เมือง Labuan Bajo อันเป็นที่จัดประชุมมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดคือ Taman Nasional Komodo หรืออุทยานแห่งชาติ #Komodo หมู่เกาะขนาด 600 ตารางกิโลเมตรที่ประกอบขึ้นจาก 26 เกาะย่อย ๆ ที่เป็นที่อยู่อาศัยของ มังกรโคโมโด Komodo Dragon (Varanus komodoensis) ถึงแม้จะอยู่ในวงศ์ Varanus ซึ่งเป็นวงเดียวกับตะกวดยักษ์ในประเทศไทย แต่โคโมโดคือ #ตะกวดสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตัวโตเต็มวัยอาจจะมีความยาวได้ถึง 3 เมตร (ในขณะที่ตะกวดบ้านเราน่าจะไม่เกิน  1.2 เมตร)
 
นี่คือ ไดโนเสาร์ที่ยังเดินเล่นอยู่บนพื้นพิภพ มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ไม่ได้ตื่นกลัวคนเหมือนตะกวดบ้านเรา มีหลายครั้งที่มีรายงานการเข้าโจมตีนักท่องเที่ยว และปัจจุบันมังกรโคโมโดก็อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ อินโดนีเซียถือว่า มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ประจำชาติ ดังนั้น ตลอดการประชุมเราคงจะได้เห็นการเล่นกับเรื่องของสัตว์มหัศจรรย์นี้ตลอดการประชุม เพื่อส่งเสริมทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ของอินโดนีเซียไปพร้อมๆ กัน
 
Keyword ที่ 2 คือ EV หรือ Electric Vehicle ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะลงนามในเอกสารสำคัญคือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค Leaders’ Declaration on Developing Regional Electric Vehicle Ecosystem นี่คือเรื่องที่จะสมประโยชน์กันทั้งภูมิภาค เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีจุดแข็งจุดอ่อน ที่หากเอาจุดแข็งมาแข่งกันก็กลายเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดในการแย่งเงินลงทุนจากผู้ผลิตยานยนต์ในระดับโลก ในขณะที่จุดอ่อนของแต่ละคนในอาเซียนก็กลายเป็นจุดสำคัญ ที่ในที่สุดจะทำให้หากต่างคนต่างดำเนินนโยบายแข่งขันกัน ทุกคนจะตายเรียบหมด
 
อาทิ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและมีผู้ประกอบการรถยนต์แบบสันดาภายในขนาดใหญ่ที่พร้อม Upgrade แต่ไทยไม่มีวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญ นั่นคือ สินแร่ที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นแบตเตอร์รี่ ในขณะที่อินโดนีเซียมีปริมาณสำรองนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่อินโดนีเซียกลับไม่มีผู้ผลิตรายย่อย ๆ ที่จะเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานได้เท่าประเทศไทย
 
อินโดนีเซียและเวียดนามอาจจะมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจ เวียดนามถึงขนาดมียานยนต์ไฟฟ้าที่มีตราสินค้าของตนเอง Vinfast แต่ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามกลับไม่ได้มีตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ
 
ตัวเลขปี 2022 อินโดนีเซียมียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าเพียง 1,900 คัน โดยจำแนกเป็นยานยนต์ Hybrid 1,378 คัน PHEV 34 คัน และรถไฟฟ้า 100% (BEV) เพียง 488 คัน และยังมีปัญหาอย่างมากในเรื่องการหาสถานีประจุไฟฟ้า ในขณะที่เวียดนาม แม้จะมี Vinfast เป็นตัวหลัก แต่ปี 2022 กลับมียอดขายเพียง 4,000 คัน ในขณะที่ประเทศไทยปี 2022 มียอดจำหน่าย 63,599 คัน (Hybrid 41,927 คัน, PHEV 11,469 คัน และ BEV 10,203 คัน)
 
ดังนั้นหากอาเซียนจะไปต่อเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางการผลิต EV ในระดับโลกได้ พวกเราต้องพึ่งพากัน นำโดยตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่อย่างไทยที่จะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ใช้วัตถุดิบจากอินโดนีเซีย เรียนรู้การพัฒนานโยบายและตราสินค้าจากเวียดนาม เช่นนี้เป็นต้น
 
ดังนั้นปฏิญญาอาเซียนฯ ว่าด้วยการพัฒนา Ecosystem สำหรับ EV ร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องเน้นให้เกิดการกระจายตัวของการลงุทน การส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่ขัดแข้งขัดขากันเอง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะสถานีอัดประจุไฟฟ้า และที่สำคัญคือต้องวางแผนระยะยาวในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน
 
Keyword ที่ 3 คือ Timor-Leste  ในการประชุมครั้งนี้ ติมอร์จะลงนามใน ร่างผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ซึ่งจะเริ่มต้นจากการที่ติมอร์จะให้สัตยาบันและทำให้ข้อตกลงอาเซียนในมิติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีผลบังคับใช้ โดยเท่าที่สำรวจดู ติมอร์ต้องลงนาม และบังคับใช้ความตกลงและตราสารฯ จำนวน 220 ฉบับภายใต้ AEC ซึ่งติมอร์จะให้มีผลบังคับใช้ทันทีได้ 66 ฉบับ, จะให้มีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีจำนวน 48 ฉบับ และภายใน 5 ปี อีก 106 ฉบับ และในความร่วมมืออื่นๆ ติมอร์ก็จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม และอาเซียนเองก็จะมีกิจกรรมที่ Engage กับติมอร์มากขึ้นในฐานะว่าที่สมาชิกลำดับที่ 11
 
และแน่นอนที่สุด เรื่องที่ทุกคนจับตามองอย่างยิ่งคือ Keyword ที่ 4 เมียนมา ซึ่งอินโดนีเซีย แม้จะออกตัวแรงในช่วงแรกของการได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่จนถึงวันนี้ สิ่งที่อินโดนีเซียยังไม่สามารถทำได้เลย นั่นก็คือ การคัดสรรค์และแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเพื่อกิจการเมียนมา และยังไม่สามารถเปิดการเจรจากับทุกภาคส่วนเพื่อหยุดความรุนแรงในเมียนมาที่มาจากทุกฝ่ายได้ ในขณะที่โมเดล Quiet Diplomacy ของไทยที่เน้นการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการผ่านเวทีวิชาการ และกึ่งวิชาการ (Track 1.5) ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชมมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยดูได้จากจำนวนภาคส่วนที่เข้ามาร่วมประชุมและร่วมสังเกตการณ์ เพื่ออย่างน้อยที่สุด จะได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร update สถานการณ์ไปพร้อมๆ กับการหาทางออกร่วมกัน
 
นอกจาก 4 เรื่องนี้แล้ว ท่าน ดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ไปประชุม ก็จะได้เข้าร่วมประชุมสุดยอด (ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ) การประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมร่วมกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) การประชุมกับตัวแทนเยาวชนอาเซียน, สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน, คณะทำงานระดับสูง ว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2025 ที่จะกำหนดทิศทางการเดินหน้าประชาคมอาเซียนหลังจากที่วิสัยทัศน์อาเซียน 2025 บรรลุเป้าหมาย และยังมีการประชุม 3 ฝ่ายกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อการวางแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วมกันอีกด้วย
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)