จับสัญญาณเศรษฐกิจไทยปี’63 ระวังปัจจัยเสี่ยงการเมืองภายใน

สัญญาณสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ การค้าโลก และตลาดการเงินโดยรวม คาดทำให้จีดีพีโลก ค้าโลกขยายตัวเพิ่มในปีหน้า การลงทุนในตลาดการเงินโลกคึกคักมาก ส่งผลดีต่อเนื่องกับเศรษฐกิจไทย ภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบ 
 
ขณะที่การเจรจาเรื่อง Brexit มีความชัดเจนขึ้นเช่นเดียวกัน หลังทราบผลการเลือกตั้งในประเทศอังกฤษ ลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบเรื่อง Brexit ได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (trade diversion) เนื่องจากสินค้าจีนจะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐมากขึ้น 
 
ส่วนกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก เหล็กและอะลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน คงได้รับผลกระทบบ้าง แต่การขยายตัวของส่งออกไปทั่วโลกจะดีขึ้น และภาพรวมของการส่งออกไปสหรัฐ และจีนจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่สูงขึ้นในปีหน้า 
 
ส่วนการเจรจาเรื่อง Brexit ที่มีความชัดเจนขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง ช่วยลดความไม่แน่นอนจากผลกระทบ ซึ่งไทยควรเตรียมการในการเจรจาเชิงรุกเพื่อจัดทำเอฟทีเอกับสหราชอาณาจักร พร้อมกับการเจรจาทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป แนวโน้มปีหน้า ปัจจัยภายนอกจะเป็นบวกมากขึ้น แต่ปัจจัยภายในโดยเฉพาะความเสี่ยงทางการเมือง ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้จะหักล้างปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลก และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจโลกได้ 
 
นอกจากนี้ การย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมายังอาเซียนจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจมีการทบทวนใหม่ ซึ่งจะสัมพันธ์กับ สงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะยืดเยื้อหรือไม่และออกมาในรูปแบบใด หลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนสำคัญความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ แต่ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมนั้นยังคงเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอยู่ เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยสูงกว่าภูมิภาคอื่น อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย แม้ไทยนั้นจะมีปัญหาเรื่อง rule of law และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เพราะประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562
 
 
ที่มา : aiti.thaichamber.org 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)