นักธุรกิจญี่ปุ่นไม่คิดย้ายฐานลงทุนหนีไทย ชี้ปรับขึ้นค่าแรงกระทบเล็กน้อย
นักธุรกิจญี่ปุ่นไม่คิดย้ายฐานลงทุนหนีไทย ชี้ปรับขึ้นค่าแรงกระทบเล็กน้อย ขอรัฐบาลไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายคุโรดะ จุน ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจโทร) เปิดเผยผลสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งแรกของปี 2566 ว่า การสำรวจครั้งนี้ ได้ทำขึ้นระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2 มิถุนายน 2566 โดยมีบริษัทที่ตอบกลับแบบสำรวจ 512 ราย
จากผลการสำรวจ พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (ดีไอ) ในครึ่งปีแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) อยู่ที่ -3 (ค่าติบลบ แสดงว่าผู้ประกอบการมองว่าสภาพธุรกิจปรับตัวแย่ลง) ปรับลดลงจากการสำรวจครั้งที่แล้วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่อยู่ระดับ 24 เนื่องจากปัจจัยภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลงจากที่มีนโยบายการเงินแบบตึงตัว แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวก็ตาม ส่วนตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจของครึ่งหลังของปี 2566 (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2566) ปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 26 เนื่องจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นผู้ตอบแบบสำรวจมีความหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้าและการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออก
นายคุโรดะกล่าวว่า ขณะที่การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร ผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามว่า คาดว่าจะลงทุนเพิ่มในด้านโรงงานเครื่องจักร ช่วงปี 2566 ถึง 30% ของผู้ตอบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ตอบว่าจะลงทุนคงที่ 41% ตอบว่าลงทุนลดลง เพียง 13% ส่วนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2566 นั้น มีสัดส่วนที่คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น จำนวน 30% ส่วนคาดว่าการส่งออกคงที่มี 46% และที่คิดว่าการส่งออกจะลดลง มี 24%
นายคุโรดะกล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาด้านบริหารองค์กร อันดับแรก คือ การแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรง สัดส่วนการตอบถึง 63% รองลงมา คือ ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 59% ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น 45% ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 31% และต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 30% ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ผู้ประกอบการเลือกตอบมากที่สุด คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 34% การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 33% และกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและพิธีศุลกากร 32%
“ในการสำรวจครั้งนี้มีคำถามพิเศษ คือ สถานการณ์เกี่ยวกับค่าแรง โดยถามว่า ผลกระทบต่อกิจการเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 ผู้ประกอบการตอบว่า ได้รับผลกระทบเล็กน้อย 51% ตอบว่า ไม่ได้รับผลกระทบ 32% และตอบว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก สัดส่วน 13% ส่วนคำถามเกี่ยวกับการรับมือจากการขึ้นค่าแรงปี 2565 ได้แก่ ไม่มีมาตรการ 49% ควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่น 38% ความคุมค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน อาทิ ลดพนักงาน มี 16% และส่วนที่ตอบว่าจะย้ายไปฐานออกไปจากไทย หรือลดปริมาณในโรงงานที่ไทยนั้น แทบไม่มีเลย คิดเป็นสัดส่วน 0%” นายคุโรดะกล่าว
ที่มา : มติชน