"เศรษฐกิจ" จีนฟื้นช้า - โตต่ำคาด "สภาพัฒน์" - "TDRI" ห่วงผลกระทบ "เศรษฐกิจไทย"

"สภาพัฒน์" จับตาเศรษฐกิจจีนหลังเติบโตได้ต่ำคาด หวั่นกระทบท่องเที่ยวเข้าไทย เตรียมหารือ ททท.ดูแนวโน้มตัวเลขครึ่งปีหลัง "ทีดีอาร์ไอ" แนะลดพึ่งตลาดส่งออก-ท่องเที่ยวจีน มองจีดีพีจีนขยายตัว 5%  มุ่งแก้ปัญหาภายในคาดมาตรการกระตุ้นมีไม่มาก มุ่งรักษาเสถียรภาพเงินหยวน
 
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน 2 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้เพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เพราะเศรษฐกิจจีนยังอยู่ช่วงปรับตัวและแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ ขณะที่ภาคการผลิตเพิ่งเริ่มฟื้นจากโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจีนไม่เร่งรัดหรือตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเพื่อให้เศรษฐกิจภายในมีเสถียรภาพ
 
ส่วนผลกระทบกับไทยนอกจากภาคการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตอนนี้ต้องดูผลกระทบที่จะเกิดกับภาคการท่องเที่ยวด้วย เพราะปี 2566 ไทยใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฟื้นตัว ดังนั้นต้องดูว่าเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงนักท่องเที่ยวจีนจากจีนจะเดินทางมาไทยเท่าไหร่ ซึ่งเดิม สศช.คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวจีน 4.25-5 ล้านคน
 
"สภาพัฒน์"คาดเศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.9% 
 
 ทั้งนี้สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปี 2566 จะขยายตัว 4.9% เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 3% โดยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.7% ในการประมาณการเศรษฐกิจมาอยู่ที่ 4.9% และเศรษฐกิจจีนปีนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ส่งผลให้กิจกรรมทาง เศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งภาคบริการฟื้นตัวดีขึ้น
 
นอกจากนี้การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจีนได้รับแรงสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางจีนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ควบคู่การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังต่อเนื่อง
 
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ปรับลดลงท่ามกลางผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐ CHIPS and Science Act ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Caixin PMI) ภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนเม.ย.อยู่ที่ 49.5 ต่ำกว่า 50 ครั้งแรก ในรอบ 3 เดือน ขณะที่การลงทุนเผชิญข้อจำกัดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องและภาระหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ยอดขายบ้านยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว
 
จับตา 3 ปัจจัยกระทบเศรษฐกิจจีน
 
ทั้งนี้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนระยะต่อยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวที่สำคัญ ได้แก่ 
 
1.การลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและภาระหนี้สิน โดยแม้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อ และระดับราคาจะเริ่มฟื้นตัวได้ช้าๆ ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2565 แต่ยังขยายตัวอัตราต่ำและอยู่ระดับต่ำกว่าช่วงก่อนมีโควิด
 
2.ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกยังเผชิญข้อจำกัดจากมาตรการทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐ ภายใต้มาตรการ CHIPS and Science Act สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังอยู่ระดับต่ำ
 
และ 3.อัตราการว่างงานในกลุ่มคนอายุน้อยยังอยู่ระดับสูง แม้อัตราการว่างงานเขตเมืองใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด แต่อัตราการว่างงานกลุ่มแรงงานอายุ 16 - 24 ปี (Young Unemployment Rate) เพิ่มต่อเนื่องสะท้อนข้อจำกัดในการสร้างตำแหน่งงานใหม่
 
"ทีดีอาร์ไอ" มองไม่แย่ครึ่งปีแรกจีนโตได้ 5.5% 
 
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ช่วงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขจุดเปราะบางภายใน โดยมีหนี้ภาครัฐท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอจากการเติบโตแบบฟองสบู่
 
โดยครึ่งปีแรกของเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 5.5% ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่จีนตั้งไว้ว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ 5% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมาย แต่การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้เป็นการขยายตัวจากฐานที่ต่ำเนื่องจากปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนมีการล็อคดาวน์ทำให้เศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกของปีที่แล้วมีฐานที่ต่ำมาก
 
“การวางเป้าหมายเศรษฐกิจที่ 5% ยังสะท้อนภาพของจีนที่ไม่ได้เน้นไปที่การเติบโตแบบในอดีต แต่ต้องการการรีบาลานซ์ ให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้อย่างมั่นคง และตัวดัชนีภาคการผลิต (PMI) ก็สะท้อนตัวอย่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป”
 
ทั้งนี้หากเศรษฐกิจจีนเติบโตในลักษณะนี้เศรษฐกิจจีนคงไม่สามารถเป็นตัวช่วยให้กับเศรษฐกิจโลกได้อย่างที่มีการคาดหวังกันไว้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว 
 
 
 
แนะหาตลาดส่งออกเพิ่มลดพึ่งพาตลาดจีน
 
ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวไทยต้องมองหาตลาดอื่นทดแทน โดยการส่งออกไทยอาจพึ่งพาตลาดจีนให้นำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นได้ยาก ซึ่งไทยควรเน้นเปิดตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง การเร่งเปิดตลาดการค้ากับซาอุดีอาระเบีย และเร่งเจรจาการค้าเสรี (FTA) เช่น ไทย – EU และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากถึง 40% ของจีดีพีโลก
 
ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไทยเคยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมาก แต่ตอนนี้มีสัญญาณว่านักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยยังไม่กลับมามาก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ายังฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ซึ่งไทยอาจเน้นเปิดตลาดท่องเที่ยวประเทศเพิ่มขึ้น เช่น มาเลเซีย
 
นายนณริฏ กล่าวว่า รัฐบาลจีนคงออกมาตรการกระตุ้นบ้าง แต่คงไม่ใช่ชุดมาตรการขนาดใหญ่ เพราะการคลังจีนมีหนี้ภาครัฐสูงมากและกำลังแก้ปัญหา ส่วนนโยบายการเงินเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จีนเพิ่งใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไป และเมื่อกระตุ้นโดยใช้มาตรการทางการเงินมากเกินไปค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าขึ้นหลังจากที่ปัจจุบันค่าเงินอ่อนค่าเงินหยวนถือว่าอ่อนค่าลงไปอีก
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)