ต้องจับตา! 'ยูนิโคล่' บุกเวียดนาม ไม่ใช่แค่เรื่องขายของ

เปิดเบื้องหลัง “ยูนิโคล่” บุกเวียดนามเศรษฐกิจดาวเด่นแห่งอาเซียน ทั้งลุยค้าปลีก เพิ่มร้านค้าเป็นร้อยร้าน พร้อมเล็งย้ายฐานผลิตสำคัญมาเวียดนาม หลังปิด 50 โรงงานในจีน
 
ยูนิโคล่ รุกเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าในเวียดนาม ที่ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง “ทาดาชิ ยาไน” ประธานและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ฟาสต์ รีเทลลิง เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล่ มั่นใจในตลาดเวียดนามมาก ถึงกับระบุว่า ประเทศนี้เป็นดินแดนที่จะทำเงินให้แก่บริษัทได้อย่างมหาศาล ในฐานะเป็น “ฮับ” ทั้งในส่วนของการผลิตและส่วนของการค้าปลีก
 
การเปิดตัวร้านยูนิโคล่ ในเวียดนาม ถือเป็นตลาดแห่งที่6 ของฟาสต์ รีเทลลิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งฝากความหวังไว้กับตลาดนี้ในฐานะเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค
 
ที่สำคัญ ฟาสต์ รีเทลลิง หวังว่าเวียดนามจะเป็นฟันเฟืองหลักผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เนื่องจากผู้บริโภคมีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งเวียดนาม ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตให้แก่บริษัทในช่วงที่สหรัฐและจีนยังคงทำสงครามการค้าต่อกันอยู่
 
ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นของยูนิโคล่ ตั้งอยู่ในย่านชอปปิ้งของนครโฮจิมินห์ ซิตี้ และตั้งอยู่ใกล้กับแบรนด์ฟาสต์ รีเทลลิงชั้นนำแบรนด์อื่นๆ อย่าง เอชแอนด์เอ็ม และซารา โดยร้านของยูนิโคล่ในเวียดนาม ถือเป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกเสื้อผ้าขนาดใหญ่สุดในอาเซียน โดยใช้พื้นที่ทั้งหมด 3,107 ตารางเมตรและสูงสามชั้น
 
“ผมมั่นใจว่าเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและเป็นหนึ่งในตลาดที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลก” ยาไน ประธานและซีอีโอ กล่าว
 
เวียดนาม เป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของยูนิโคล่ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าปลีกจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นและลำลองจำนวนกว่า 2,000 แห่งทั่วโลก และบริษัทยังวางแผนที่จะเพิ่มร้านค้าอีก 4 เท่าเป็น 800 แห่งในอาเซียน ภายในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ฟาสต์ รีเทลลิง ยังตั้งเป้าเพิ่มยอดขายอีกประมาณ 30% ทุกปีในอินเดีย ซึ่งบริษัทเข้าไปเปิดร้านแห่งแรกในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
 
ยาไน ระบุว่า ต้องการเปิดสาขาที่2 ในกรุงฮานอยในเร็วๆนี้ พร้อมทั้งบอกว่า บริษัทมีแผนเปิดร้านในเวียดนามเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง
 
ในสายตาฟาสต์ รีเทลลิงแล้ว นอกจากเวียดนามจะเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว เวียดนาม ยังน่าดึงดูดใจในฐานะเป็นศูนย์กลางการผลิตใหญ่สุดอันดับที่ 2 รองจากจีน ที่บริษัทได้ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตในจีนไปแล้วทั้งหมด 50 แห่งด้วยกัน
 
ยาไน กล่าวว่า ในแต่ละปียูนิโคล่ส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ และปัจจุบันนี้ คุณภาพเสื้อผ้าที่ผลิตจากเวียดนาม คุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทำให้เขามั่นใจว่าสินค้าที่ผลิตจากเวียดนามจะมีอนาคตสดใส
 
ฟาสต์ รีเทลลิง ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่3 โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อปิดงบการเงิน 2562 ของบริษัทที่สิ้นสุดวันที่31ส.ค. 2562 โดยทำได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ แต่ตัวเลขที่พลาดเป้า คือการประเมินกำไรสุทธิในปีหน้า เพราะปี 2563 บริษัทมองว่าผลกำไรจากการดำเนินงานจะเติบโต 6.7% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์ที่มองว่าการเติบโตของกำไรของฟาสต์ รีเทลลิงน่าจะเพิ่มขึ้นอีก15%
 
ปีเตอร์ บอร์ดแมน กรรมการผู้จัดการของบริษัทวิจัยเอ็นดับเบิลยูคิว อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ฟาสต์ รีเทลลิง จะมีแบรนด์ที่ยอดเยี่ยมแต่ตลาดรอบด้านมีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งทำให้มีโอกาสที่การเติบโตของธุรกิจฟาสต์ รีเทลลิงจะชะลอตัวลงในหลายด้าน
 
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์พุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจจีน ที่มีแนวโน้มชะลอตัวหลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องหลายปี การหดตัวของกำลังซื้อในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนจะมีผลกระทบโดยตรงกับเจ้าของแบรนด์แฟชันอย่างฟาสต์ รีเทลลิง เนื่องจาก 35% ของผลกำไรของบริษัทมาจากประเทศจีน ด้วยเหตุนี้ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ย่อมส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของฟาสต์ รีเทลลิงอย่างไม่ต้องสงสัย
 
จีนเป็นตลาดหลักของฟาสต์ รีเทลลิง ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา ฟาสต์ รีเทลลิง ประเมินว่ายอดขายจากจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1ล้านล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนนี้ ถือว่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก5แสนล้านเยนที่รายงานไว้ในปี 2562
 
แต่ฟาสต์ รีเทลลิงก็เผชิญกับความท้าทายจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้บางกลุ่มคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นจนซีอีโอและประธานของฟาสต์ รีเทลลิงเองยังยอมรับว่าเป็นปัญหาในระดับที่ร้ายแรง
 
กรณีพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากฟาสต์ รีเทลลิง เปิดเผยตัวเลขว่า ธุรกิจในเกาหลีใต้ทำรายได้และกำไรลดลงพร้อมกับยอมรับความจริงว่ารายได้ในเกาหลีใต้จะลดลงอย่างมากและต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ2563
 
นักวิเคราะห์จากเอ็นดับเบิลยูคิว ประเมินว่า เกาหลีใต้คิดเป็นส่วนแบ่งรายได้ประมาณ3%ของฟาสต์ รีเทลลิง แม้จะเป็นตัวเลขสัดส่วนที่ต่ำแต่ก็เป็นเงินจำนวนมากที่จะหดหายไปจากบัญชีของบริษัท
 
ขณะที่ "ฟาม ซวน ฮอง" ประธาน บริษัท ไซง่อน 3 การ์เมนท์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของยูนิโคล่ กล่าวว่า “เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าที่เราผลิตวางจำหน่ายในร้านยูนิโคล่ในเวียดนาม หลังจากเราผลิตเสื้อผ้าแฟชันเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น ประเทศในอาเซียนและสหภาพยุโรป (อียู)มานานมาก”
 
บริษัทของฟาม เป็นหุ้นส่วนกับยูนิโคล่มาตั้งแต่ปี 2542 และผลิตสินค้าให้ยูนิโคล่ในสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของสินค้าที่ผลิตในโรงงานทั้งหมด
 
“ยูนิโคล่เป็นหนึ่งในแบรนด์ญี่ปุ่น ที่บริษัทของเขาผลิตสินค้าให้ และขยายสาขาร้านไปทั่ว5ทวีป” นายฟาม ดัง กัว ผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจของบริษัทคิม ทาห์น กรุ๊ป ซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์แฟชัน 6 แบรนด์ และผลิตสินค้าป้อนให้ยูนิโคล่ในสัดส่วนกว่า 50%
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 ธันวาคม 2562

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)