"แรงงาน" เร่งเสนอ ครม. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ 2567
กระทรวงแรงงาน หารือ ส.อ.ท. ตัวแทนภาคเอกชน ถกปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เสนอที่ประชุม ครม. ประกาศใช้ให้ทันให้เป็นของขวัญปีใหม่คนไทยปี 2567
วันนี้ (15 ก.ย.) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมรองประธาน และคณะกรรมการ ส.อ.ท. ให้การต้อนรับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายหลังที่ได้มีการแถลงนโยบายตอนช่วงหาเสียง กระทรวงฯ จึงหารือกับ ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่มีความเข้าใจในปัญหาแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะขณะนี้ทุกภาคส่วนมีความกังวล โดยจะนำข้อเสนอที่ได้รับในวันนี้ไปหารือต่อ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยไม่กระทบต่อนายจ้างและลูกจ้างสามารถยอมรับได้
“กระทรวงฯ ยืนยันการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567 โดยจะมีการหารือในรายละเอียดทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพื่อหาข้อสรุปและประกาศออกมาภายในเดือนพ.ย. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล
โดยส.อ.ท. ได้ทำการวิเคราะห์และพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ
1.เปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิต OEM เป็น Original Design Manufacturer - ODM หรือ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท และ Original Brand Manufacturer – OBM ผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง
2.เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบออโตเมชั่น
3.เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม
4.เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (High-skilled labor)
“อย่างที่เราทราบกัน ประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่สามารถเทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เราต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋กัน เพราะอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานแรงงาน ได้กล่าวถึงข้อเสนอด้านแรงงานที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยผลักดัน ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลักๆ คือ
1. เพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศคู่แข่ง และผลักดันประเด็นผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งต้องมีการพัฒนาทักษะให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อสอดรับเศรษฐกิจยุคใหม่
โดยภาครัฐควรมีการสนับสนุนงบประมาณ และประสานความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเอกชน ภาคการศึกษา จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน สนองความต้องการตลาดแรงงาน (STEM)
2. ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในการนำระบบ Automation มาปรับใช้ โดยภาครัฐควรมีนโยบายและจัดสรรงบประมาณมาใช้ในระบบบริหารจัดการและการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3. จัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ที่ทันสมัย ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน เพื่อบริหารจัดการอุปสงค์(Demand) และอุปทาน (Supply) ด้านแรงงาน แก้ไขปัญหาการทำงานไม่ตรงกับทักษะ(Mismatching) และการขาดแคลนแรงงาน
โดยมีหน่วยงานเฉพาะกิจมารับผิดชอบ เพื่อวางแผน รวบรวม ประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เพื่อใช้ในการพัฒนากำลังคน สร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงาน
4. กระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน (STEM) ให้มีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ
5. แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวระยะยาว เช่น เจรจากับประเทศต้นทางในการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงฯ หรือ MOU ที่ไทยทำกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย
6. แก้ไขปัญหาประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยภาครัฐควรออกมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัย ลดการขาดแคลนแรงงานลดปัญหาครอบครัวและสังคม เช่น ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญออกมาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาทักษะผู้สูงอายุทั้งด้าน Upskill และ Reskill รวมทั้งส่งเสริมผู้สูงอายุปรับตัวตามตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป
7. เพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน สนับสนุน ส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับนายจ้าง และสามารถลดต้นทุนต่อหน่วย ปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่น ลดค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของครัวเรือน ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น เพื่อลดภาระให้กับแรงงานและสามารถดำรงชีพได้
8. ออกนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDPs ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน ให้ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก
“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เราจะไม่ได้มีการจ่ายแบบเหมารวม แต่เราจะจ่ายตามทักษะ หรือที่เรียกว่า Pay by Skills เพราะหากจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะสร้างความไม่ยุติธรรมต่อแรงงานที่มีประสบการณ์” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ