เมียนมาดึงทุน "รัสเซีย" ปลุกชีพโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
ข่าวการรื้อฟื้น โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในจังหวัดทวาย ภูมิภาคตะนาวศรี ของเมียนมา เกิดขึ้นในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยเมียนมานาว (Myanmar Now) สื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมา กำลังเริ่มการเจรจากับภาครัฐและเอกชน รัสเซีย เพื่อรื้อฟื้นโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากโครงการนี้ต้องหยุดชะงักมาเป็นเวลานานหลายปีเนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้ยกเลิกสัมปทานที่มอบให้เอกชนไทยโดยอ้างเหตุผลทางการเงินและการผิดสัญญา หลังจากนั้นยังเกิดการรัฐประหารในเมียนมา กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ทำให้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายถูกพับเก็บท่ามกลางความบอบช้ำของเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในนามบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด บริษัทลูกของบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ตั้งแต่ปี 2553
การเจรจาเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น
อ่อง โซ (Aung Soe) ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ MC) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยกับสื่อว่า ตอนนี้เมียนมาและรัสเซียเพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการเจรจา หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียและบริษัทเอกชนรัสเซียหลายรายแสดงความสนใจในโครงการดังกล่าว จึงยังไม่อาจเปิดเผยว่าฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนออะไรบ้าง รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ
“เราจะให้ข่าวทันทีที่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้อย่างเป็นรูปธรรม” อ่อง โซ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซียว่า การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเข้ามาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือใหญ่ขนาด 200,000 ตันหรือมากกว่านั้น
ทำไมต้องเป็นรัสเซีย
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เว็บไซต์พาณิชย์นาวี Maritimegateway.com รายงานอ้างอิงแหล่งข่าว ระบุว่า การทาบทามรัสเซียเข้าร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันออกของเมียนมา หรือฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเปิดออกสู่มหาสมุทรอินเดียนั้น สร้างความตึงเครียดระหว่างเมียนมาและจีน เนื่องจากจีนเองก็แสดงความสนใจที่จะลงทุนพัฒนาท่าเรือในบริเวณดังกล่าวอยู่เช่นกัน โดยจีนนั้นเคยศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย แต่สุดท้ายก็หันไปสร้างท่าเรือน้ำลึกพร้อมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองจ้าวผิ่ว (Kyakphyu) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของเมียนมา ใกล้กับท่าเรือซิตตเว (Sittwe) แทน
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดการเจรจาระหว่างเมียนมากับรัสเซียเปิดเผยว่า เมียนมาเองพยายามดึงรัสเซียเข้ามาถ่วงดุลและคานอิทธิพลของจีนที่รุกเข้ามาลงทุนจนกลายเป็นผู้ลงทุน Top 3 ในเมียนมา (ข้อมูล ณ มีนาคม 2566) รองจากสิงคโปร์และฮ่องกง โดยเมียนมาเชิญชวนให้รัสเซียเข้ามาลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันในทวาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อท่าเรือน้ำลึกของจีนที่จ้าวผิ่วในฐานะท่าเรือเชิงพาณิชย์ของภูมิภาค
ท่าทีของประเทศที่เกี่ยวข้องรอบด้าน
อินเดีย ที่เคยมีบทบาทด้านความมั่นคงในอ่าวเบงกอล ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดีย อาจชอบให้เมียนมาร่วมมือกับรัสเซียมากกว่าจีน เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีนในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เท่าที่ผ่านมาในอดีต ทั้งสามประเทศเคยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรร่วมกัน เช่นเรือดำน้ำที่อินเดียผลิตขายให้เมียนมานั้น ส่วนใหญ่ก็มีต้นกำเนิดมาจากรัสเซีย อีกทั้งบริษัทของอินเดียและรัสเซียยังได้ร่วมมือกันบริหารจัดการสนามบินแห่งหนึ่งใกล้กับท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา โดยท่าเรือดังกล่าวเป็นการลงทุนของกลุ่มทุนจีน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังลดการพึ่งพาจีนและกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียในโครงการด้านยุทโธปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและเศรษฐกิจต่างประเทศของเมียนมา เดินทางเยือนกรุงมอสโก เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงกลั่นปิโตรเลียม และโครงการด้านพลังงาน
ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่สังเกตว่า เมียนมาได้เพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินสำหรับกองทัพอากาศในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏและชนกลุ่มน้อยต่อต้านรัฐบาลทหาร ความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างเมียนมาและรัสเซียยังเข้มข้นมากขึ้น ด้วยทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนฐานทัพเรือ และมีการฝึกซ้อมร่วมด้านความมั่นคงทางทะเล
ข่าวระบุว่า ในการเยือนรัสเซียของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฐานทัพเรือซิตตเว มีการลงนามข้อตกลงมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,288 ล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัสเซียยังกลายเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น การจัดหาเครื่องบินรบ Sukhoi และเครื่องยิงจรวด มูลค่ารวม 406 ล้านดอลลาร์ให้กับเมียนมา
ทั้งนี้ นายพลมิน ออง หล่าย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารเมียนมา เดินทางเยือนรัสเซียถึงสามครั้งแล้วนับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันระบุว่า รัสเซียได้จัดการฝึกอบรมการซุ่มยิงและวิธีใช้โดรนทางการทหารให้กับกองทัพเมียนมา ผ่านบริการของบริษัททหารรับจ้างวากเนอร์ (Wagner) และเวกา สตราทิจิ เซอร์วิส (Vega Strategic Services) พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญภาคพื้นดินในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวว่า บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของรัสเซีย ภายใต้ชื่อ โรซาทอม (ROSATOM) อาจเป็นผู้จัดหาเครื่องปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กให้กับรัฐบาลเมียนมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลเมียนมา ยังได้เปิดศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งแรกในกรุงย่างกุ้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากมอสโก
ด้วยพลวัตรความร่วมมือเมียนมา-รัสเซียในหลากหลายด้านนี้ การรื้อฟื้นโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะมีผลต่อไทยและน่าจับตาอย่างไรทั้งในแง่เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์นั้น “ฐานเศรษฐกิจ” จะนำเสนอเป็นลำดับต่อไป
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ