เวียดนาม ลุยบันได 3 ขั้น ดัน "เหล็กสีเขียว" ผงาดแชมป์อาเซียน-แถวหน้าโลก

ทำไม "เหล็กเวียดนามขึ้นเบอร์หนึ่งอาเซียนและติดระดับโลก" อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามเริ่มมาจากการตั้งโรงงานเหล็กแห่งแรกชื่อว่า Thai Nguyen Integrated Steelworks ในปี 1959 ที่จังหวัด Thai Nguyen ที่ถูกขนานนามว่า “ดินแดนเหล็ก (Land of Steel)”
 
หลังมี “นโยบาย Doi Moi” (ปี 1986)  เหล็กเวียดนามโตก้าวกระโดด ทั้งการผลิตและส่งออก แรงผลักดันสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเหล็กจากไต้หวัน Formosa Ha Tinh Corporation เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและอันดับต้นของโลก
 
มีนโยบาย (บันได) 3 เรื่อง (ขั้น) คือ
 
บันไดขั้นที่ 1 ผลิตและส่งออกเพิ่มรวดเร็ว แรงส่งจากจีนและรัสเซีย (สมัยเวียดยนาม-ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ) ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ตามด้วยแรงส่งจากนโยบาย Doi Moi มูลค่าส่งออกจาก 2 พันล้านเหรียญ (2013) เป็น 12,000 ล้านเหรียญ (2021) ส่งออก 13 ล้านตัน อาเซียนเป็นตลาดหลัก กัมพูชาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซียและเกาหลี
 
การส่งออกเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ปี 2560 เวียดนามผลิตเหล็ก 11.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) ปี 2565 ผลิต 19 ล้านตัน เป้าหมาย 66 ล้านตันในปี 2578  
 
นโยบายส่งออกมีหลัก ๆ คือ 1.อัตราการขยายตัวในปี 2025 อยู่ที่ 80-85% และ 90% (2050)  2.ร่วมมือกับนานาชาติให้มากขึ้น 3.ส่งออกเหล็กคาร์บอนต่ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Hydrogen Energy Strategy 2030-2050 ทั้งนี้เพื่อลด GHG ของประเทศ และหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดนจากยุโรป CBAM รวมถึงจากประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอน 4.กระจายตลาดส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นและรักษาฐานตลาดอาเซียน
 
บันไดขั้นที่ 2 ปกป้องเหล็กในประเทศ แม้ว่าเวียดนามเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ แต่การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น มาจากการทำข้อตกลงการค้าหลาย ๆ ฉบับของเวียดนาม ทำให้กระทบต่อการผลิตเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะเหล็ก HRC (Hot Rolled Coil)
 
 
ตัวเลขการนำเข้าของกรมศุลกากรเวียดนาม (General Department of Customs : GDC) รายงานว่า ปี 2023 เวียดนามนำเข้า HRC เพิ่มขึ้น 143% เพิ่มขึ้นจาก 7.5 ล้านตัน (2021) และเพิ่มเป็น 9.6 ล้านตันในปี 2023 ทำให้ผลผลิตเหล็กในประเทศลดการผลิตลง 1.5 ล้านตัน
 
เหล็กนำเข้าส่วนใหญ่เป็นเหล็กจากจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade : MOIT) จึงต้องออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กเร่งด่วนคือ 1.ตรวจสอบเข้มข้นการทุ่มตลาดเหล็กต่างประเทศในเวียดนาม 2.ตรวจผลกระทบต่อทุกมิติของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ได้แก่ วิธีการทุ่มตลาด ทั้งมูลค่าและยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด ผลผลิตและกำไร และการตั้งราคา
 
3.ศึกษาวิเคราะห์และผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการทุ่มตลาดกับผลผลิตภายในประเทศ การนำเข้าเพิ่มจะทำให้ลดการผลิตภายในประเทศหรือไม่ และทำให้ส่วนแบ่งตลาดผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศลดลง 4.ศึกษาและแก้ช่องโหว่ของกฎหมายการนำเข้า ที่ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีนำเข้า 5.ใช้มาตรการอุปสรรคทางเทคนิค (Technical Barrier) ในการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศ
 
บันไดขั้นที่ 3 From Gray Steel to Green Steel เหล็กเวียดนามปล่อย 7% ของ CO2 เวียดนามจึงตั้งเป้าผลิตเหล็กสีเขียวให้ได้ปีละ 9.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดคาร์บอน เวียดนามใช้มี 2 วิธีสำคัญคือการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการดักเก็บและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ตาม Hydrogen Energy Development Strategy of Vietnam to 2030, vision to 2050
 
บันได 3 ขั้นของเวียดนาม ไทยจะได้รับผลกระทบ จากเหล็กราคาถูกเวียดนามเข้าในไทยมากขึ้นอีก  และแม้ว่าไทยจะปกป้องเหล็กภายในประเทศเหมือนที่เวียดนามกำลังทำ แต่เมื่อเทียบกันแล้ว เวียดนามมีนโยบายการบังคับใช้  การส่งเสริม การปกป้องที่เข้มข้นกว่าไทย เพราะ เวียดนามกำหนดเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่เหล็กไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมรองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นเท่านั้นเอง
 
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)