ส่งออกจีน 9 แสนสะดุดฯ @ประชาชาติธุรกิจ
“ไวรัสอู่ฮั่น” พ่นพิษส่งออกตลาดจีน 9 แสนล้านสะดุดพ่อค้าจีนแห่ชะลอคำสั่งซื้อ โลจิสติกส์ติดล็อก ส่งออก “ผัก-ผลไม้” 6 หมื่นล้านอาการหนักสุด ติดค้างที่ด่านจำนวนมาก ล้งจีนหยุดรับซื้อ “ทุเรียน-ลำไย” ทุบราคาดิ่งฮวบ สภาหอฯหั่นคาดการณ์ส่งออกปีนี้ติดลบ 1.7% ด้านภาคท่องเที่ยวคาดสูญกว่า 1 แสนล้าน โรงแรม 7,500 แห่งกระอัก พัทยาสงัดเริ่มให้พนักงานสลับหยุดงาน ร้านจิวเวลรี่รับกรุ๊ปทัวร์จีน ทยอยปิดตัว
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น กำลังส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อการส่งออกและการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย โดยปี 2562 ไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 902,273.8 ล้านบาท จากกลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง, คอมพิวเตอร์อุปกรณ์ส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, รถยนต์และส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และแผงวงจรไฟฟ้า
โดยการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม (รวมปศุสัตว์-ประมง) มูลค่า 189,844.62 ล้านบาท คิดเป็น 28.12% ของการส่งออกตลาดจีน สินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง-ยางพารา-ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง-ข้าว-ไก่สด-กุ้ง-ปลา เฉพาะกลุ่มผักผลไม้สูงถึง 64,535.88 ล้านบาท หลักๆ จะเป็นลำไย ทุเรียน มะม่วง และผลไม้แช่แข็ง
หั่นส่งออกปี 63 ติดลบ 1.7%
นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนได้ร่วมประชุมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ส่งออกโดยเบื้องต้นว่า ส่งออกไทยปีนี้อาจติดลบ 1.7% จากปีก่อน จาก ทั้งผลกระทบของไวรัสโคโรน่า ประกอบกับภาวะภัยแล้งกระทบวัตถุดิบ และค่าเงินบาทที่แข็งค่า แต่หากรัฐบาลสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้กลับมาที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ และมีมาตรการเสริมในการหาตลาดใหม่จะทำให้การส่งออกมีโอกาสจะปรับตัวดีขึ้นได้
“ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าต่อตลาดส่งออกจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่มีสัดส่วนถึง 11% ของการส่งออก ว่าจะปรับลดลงเท่าไร เพราะเท่าที่หารือกันมี 2 ด้าน คือ หลายสินค้าที่มีโอกาสส่งออกเพิ่ม เช่น อาหารพร้อมทาน อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ แต่อีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบส่งออกลดลง จากปัญหาที่จีนปิดด่าน เช่น ผลไม้ และจากปัญหาซัพพลายเชนสะดุด เช่น กลุ่มผลิตหน้ากากอนามัย และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศ จีนมาใช้ ขณะนี้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและยังไม่มีแหล่งนำเข้าสำรอง ก็กำลังหาทางออกอยู่ว่าจะทำอย่างไร หรือกลุ่มชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนให้จีน ดังนั้น คาดว่ากลางเดือน ก.พ.จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ที่กระทบ แน่นอน คือภาคท่องเที่ยวที่ถูกยกเลิกการจองต่าง ๆ ก็จะหายไปกว่า 80,000 ล้านบาท”
จีนชะลอสั่งซื้อ-โลจิสติกส์ติดล็อก
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าแป้งมันสำปะหลังจีนได้ “ชะลอ” การเซ็นสัญญาซื้อขายกับไทยแล้ว เพราะหลังการระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้ไม่ สามารถขนถ่ายแป้งมันภายในประเทศจีนได้ แม้ว่าจะขนส่งเข้าไปได้เพราะยังไม่มีการปิดท่าเรือ (เหรียญหยุนกว่าง-เจ้อเจียง) ก็ตาม สมาคม ประเมินว่าจะส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกแป้งมันปีนี้ลดลงจากปกติ 50% หรือประมาณ 2 ล้านตันแป้ง
ขณะที่นายคึกฤทธิ์ อารีย์ปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า เนื่องจากเทศกาลตรุษจีน บริษัทในจีนหยุดยาว 14 วัน และผลจากการปิดเมืองต่าง ๆ เพื่อสกัดไวรัสโคโรน่าในหลายเมือง ทำให้บริษัทจีนผู้นำเข้าไก่จากไทย “ยังไม่สั่งซื้อไก่ในไตรมาส 2 แต่ ไตรมาส 1 นำเข้าเต็มที่แล้ว จากนี้เรายังต้องประเมินสถานการณ์ต่อไป”
สอดคล้องกับนายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชนกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวไปประเทศจีนรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งมอบสินค้าจากคำสั่งซื้อเดิม แต่การส่งมอบอาจชะลอตัวอยู่บ้าง เนื่องจากทางการจีนประกาศวันหยุดเพิ่มเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่า ทำให้การตรวจสอบสินค้ายังตกค้างอยู่ที่คลังยังไม่ได้กระจายเข้าสู่ตลาด ส่วนคำสั่งซื้อใหม่ยังไม่มีเข้ามา”
จีนเมินซื้อทุเรียนสูญหมื่นล้าน
นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผยว่าตลาดส่งออกทุเรียนตลาดใหญ่อยู่ในกว่างโจว แม้ไม่ได้ปิดเมืองแต่ก็เหมือนปิด เพราะไม่มีตลาดรับซื้อ คนจีนไม่ออกมาจับจ่าย ส่งผลให้ รถส่งผลไม้ไม่มีการขนถ่ายตู้ต้องรอ 4-5 วัน จากปกติวันเดียวก็ขนถ่ายสินค้าหมดแล้ว ต้องรอให้ตลาดเดิน หรือขายทิ้งราคาถูก ตอนนี้ขาดทุน กันรายละราว 10 ล้านบาท คาดความเสียหายโดยรวมขณะนี้อาจสูงหลายร้อยล้านบาท เพราะช่วง 4-5 วันที่ผ่านมามีการส่งทุเรียนไปวันละประมาณ 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ตอนนี้ผู้ส่งออกหันมาส่งขายทุเรียนที่ “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งในประเทศแทนคาดว่าช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ที่ทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล ถ้าจีนยังแก้ปัญหาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ ตลาดทุเรียนไทยจะเสียหายหนักนับหมื่นล้านบาท ปัญหาคือก่อนหน้านี้พ่อค้าจีนเหมาซื้อทุเรียนภาคตะวันออกช่วงต้นฤดูสูงถึง กก.ละ 150-180 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้แล้ว ถ้าส่งออกจีนไม่ได้จะมีปัญหาตามมาอีก ถ้าภายใน 2 เดือนยังแก้ปัญหาไวรัส อู่ฮั่นไม่ได้การส่งออกทุเรียนปีนี้จะยิ่งเสียหาย
ยกเลิกออร์เดอร์ขาดทุนยับ
นางสาวพัศยา อมรจตุรพร กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟูหวัง ผู้ส่งออกสินค้าผลไม้สดไปจีน เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้ตลาดผลไม้หยุดการซื้อขาย ชาวจีนไม่ออกจากบ้านมาจับจ่าย ผู้ซื้อหลัก ทุกรายจึงงดและยกเลิกการสั่งซื้อไม่มีกำหนด ส่งผลให้ผลไม้สดของ บริษัท ได้แก่ ลำไยสด ทุเรียน มังคุด ฯลฯ ที่ขนส่งผ่านเส้นทาง R3A ติดค้างที่ด่านการค้าชายแดนบ่อเต็น (สปป.ลาว) 10 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ขณะที่สินค้าที่ส่งไปก่อนหน้านี้ก็ติดค้างอยู่ที่ตลาดในเมืองต่าง ๆ ของจีนจำนวนมากเช่นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าว กระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรที่บริษัทรับซื้อผลผลิตด้วย เพราะขายของไม่ได้ เก็บผลผลิตมาก็ต้องปล่อยทิ้งขาดรายได้ พนักงานของบริษัท ก็ต้องหยุดงานทั้งหมด แต่บริษัทยังรับภาระในส่วนพนักงานอยู่
ล้งจีนหยุดซื้อทุเรียน ราคาทุเรียนดิ่ง
แหล่งข่าวจากล้งส่งออกทุเรียน จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ตอนนี้ล้งในไทยเกือบทั้งหมดต้องหยุดซื้อทุเรียน เพราะไม่มีตลาดจำหน่ายในจีน คาดว่าเดือน ก.พ.-มี.ค. เมื่อผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มออกมาก จะส่งผลกระทบทำให้ราคาทุเรียนตกเหลือแค่ 60-80 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาทุเรียนพ่อค้าจีนที่เหมาสวนไว้ 150 บาท/กก. จึงต้องหาทางระบายสู่ตลาดภายในประเทศ หรือทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง ขณะที่ตลาดลำไยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากปกติก่อนตรุษจีนราคาจะอยู่ที่ 30-35 บาท กก.และคาดการณ์ว่าช่วงเทศกาลเช็งเม้งเดือนเม.ย.จะขยับสูงถึง 40-50 บาท แต่ตอนนี้ราคากลับร่วงลงเหลือ 16-20 บาท
ด่านเชียงรายชะงัก
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายกิจการค้าชายแดน เปิดเผยว่า การค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก พบว่าตามด่านชายแดนไม่มีคนงานจีนเข้าไปทำงานตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน และเมื่อมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคยิ่งทำให้ผู้คนหายไปหมด ขณะที่ด่านพรมแดน สปป.ลาว-จีน ตรงด่านบ่อหานและด่านโมฮาน มณฑลยูนนาน ทางการจีนไม่ได้ปิดการนำเข้าและส่งออก แต่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คนจีนเข้าด่านตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2563 จึงทำให้สินค้าจำนวนมากที่ส่งจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปตามถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีน เช่น ผลไม้ มังคุด ฯลฯ ต้องจอดรถที่ด่านบ่อเต็นกันนานหลายวัน
ขณะที่ท่าเรือสบโหลยของประเทศเมียนมาที่ส่งสินค้าผ่านเข้าไปก็ เข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองของคนจีนตั้งแต่มีการระบาดของโรค จึงทำให้เรือสินค้าจำนวนมากจอดอยู่ตามเมืองท่าต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงโดยไม่มีการขนส่งสินค้า ขณะที่ตลาดในประเทศจีนมีความต้องการสินค้าจาก ประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะอาหาร ฯลฯ โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาเริ่มผ่อนปรนลงบ้าง โดยมีรถบรรทุกสินค้าของจีนเดินทางเข้ามารับสินค้าไทยที่ด่านเมืองบ่อเต็นของ สปป.ลาว แล้วขนสินค้ากลับไปยังมณฑลยูนนานแล้ว แต่การส่งออกทั้งทางบกผ่านถนนอาร์สามเอและทางเรือแม่น้ำโขงยังหยุดชะงักถึงปัจจุบัน
ถุงมือยางรับส้มหล่น
นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนยังสามารถส่งผ่านเข้าพรมแดนได้ แต่จีนไม่มีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภายในประเทศจีนมีสต๊อกข้าวเก่าเหลืออยู่ถึง 120 ล้านตัน
ขณะที่รายงานข่าวจากบริษัทศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี ผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ระบุว่า การส่งออกยางพาราไปประเทศจีนยังสามารถส่งออกตามปกติ นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทศรีตรังโกลฟ์ ผู้ผลิตถุงมือยาง ยังได้รับอานิสงส์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นกรณีเร่งด่วน ทั้งจาก ผู้นำเข้าจีน และผู้ประกอบการในไทย เพื่อนำไปใช้ป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้ในธุรกิจบริการทางการแพทย์ สายการบิน และอื่น ๆ
สั่งทูตพาณิชย์ดูแล “ผู้ส่งออก”
ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานทูตพาณิชย์ใน จีนทั้ง 7 แห่ง ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานเร่งด่วนให้สำนักงานทำหน้าที่ประสานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกในกรณี ปัญหาที่ส่งออกสินค้าไปแล้วไม่ สามารถกระจายไปจำหน่ายภายในประเทศจีนได้ ทำให้สินค้าเสียหาย เบื้องต้นทางคู่สัญญาจะเจรจาไกล่เกลี่ยความเสียหายช่วยกันก่อน หรือกรณีต้องการยกเลิกการเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนต้องทำอย่างไร
“โรงแรม-ร้านจิวเวอรี่”กระอัก
นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศห้ามกรุ๊ป ทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบ การธุรกิจท่องเที่ยวของไทยทันที โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ร้านช็อปปิ้ง (จิวเวลรี่) รวมถึงร้านอาหารที่เน้นตลาดจีนเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาเอเย่นต์ทัวร์ได้ทยอยยกเลิกห้องพักทั้งหมดแล้ว ทั้งในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของคนจีน อาทิ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่, ภูเก็ต, เกาะสมุย ฯลฯ
“ในภาวะปกติจะมีนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกรุ๊ปทัวร์เข้ามาเฉลี่ยประมาณ 12,000 กรุ๊ปต่อเดือน หรือประมาณ 3.6-4 แสนคน หรือราว 40% ของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยทั้งหมด มีการใช้ห้องพักราว 2 แสนห้องต่อเดือน” ดร.วสุเชษฐ์กล่าว
แหล่งข่าวในวงการโรงแรมรายหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมาโรงแรมที่รับกรุ๊ปทัวร์จีนส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดกลางระดับ 4 ดาวลงมา และอยู่ในทำเลชานเมือง หากประเมินจากสถิติของนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 9 แสนคนต่อเดือน คำนวณแบบง่าย ๆ จะมีความต้องการ ห้องพักประมาณ 4.5-5 แสนห้องต่อเดือน ซึ่งเมื่อกลุ่มนี้หยุดเดินทางผู้ประกอบการโรงแรมก็จะได้รับผลกระทบทันที และไม่เพียงแต่โรงแรมเท่านั้น ณ เวลานี้ร้านช็อปปิ้งรายใหญ่ที่รองรับทัวร์จีนก็เจ็บหนักเช่นกัน ซึ่งตอนนี้โมเดิร์นเจมส์ ซึ่งรับกลุ่มทัวร์จีนก็ประกาศปิดให้บริการแล้ว และคาดกันว่าอีกไม่นานน่าจะมีกลุ่มอื่น ๆ ปิดตัวเพิ่มขึ้น
แหล่งท่องเที่ยว “พัทยา” ปิดตัว
นางสาวภคมน วงศ์ใหญ่ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ตอนนี้ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาค ตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะพัทยา ที่ขณะนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีการปิดตัวหยุดให้บริการชั่วคราว และสำหรับโรงแรมที่รับเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนก็ถูกยกเลิกห้องพัก 100% ยิ่งมีข่าวพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต่างชาติก็ไม่กล้ามาเมืองไทย ตอนนี้นักท่องเที่ยวชาติอื่นก็มีการยกเลิกการจองเข้ามาบ้างเช่นกัน
สถานการณ์ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ หลายโรงแรมเข้ามาปรึกษาจะใช้วิธีให้พนักงานหยุดพักงาน 2 สัปดาห์ สลับทำงาน 2 สัปดาห์ต่อเดือน ซึ่งจะจ่ายค่าแรงเฉพาะช่วงที่มาทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย
รายได้ท่องเที่ยวหาย 1 แสนล้าน
ทั้งนี้ TMB Analytics ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย ประเมินว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าจะทำให้ช่วงครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวจีนลดลง 2.4 ล้านคน ก่อนที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์เดิม 40.8 ล้านคน และรายได้ภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้องลดลงกว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.7% ของจีดีพีแบ่งเป็นรายได้ธุรกิจโรงแรมหายไป 2.84 หมื่นล้านบาท ธุรกิจค้าปลีกรายได้หายไป 2.84 หมื่นล้านบาท ธุรกิจร้านอาหารลดลง 1.89 หมื่นล้านบาท และค่าเดินทาง ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และอื่น ๆ หายไป 2.92 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงระดับสูงคือ “ธุรกิจโรงแรม” ซึ่งมีผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบถึง 7,500 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563