เสื้อผ้า-รองเท้าเล็งเวียดนาม รับมืออียูตัดสิทธิการค้ากัมพูชา

ธุรกิจไทยลงทุนในกัมพูชาปรับแผนสู้ ลดผลกระทบอียูลงดาบตัดสิทธิทางการค้า การ์เมนต์-รองเท้าหันหัวรบลุยขยายในเวียดนามแทน “นํ้าตาลขอนแก่น” ยันผู้บริโภคอียูรับกรรม ชี้เป็นเกมการเมืองเพื่อต่อรอง
 
สหภาพยุโรป(อียู) ได้ประกาศผลการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (EBA) ต่อกัมพูชาแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะถูกถอนสิทธิในกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และนํ้าตาล อ้างเหตุผลกัมพูชามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน และสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งอียูจะยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มีต่อกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563
 
นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนช์กรุ๊ป ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาให้กับแบรนด์เนมดังรายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันทางกลุ่มได้ลงทุนในกัมพูชาแล้วใน 4 เฟส หรือ 4 โรงงาน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง มีคนงานรวม 7,000-8,000 คน กำลังผลิตรวมประมาณ 25 ล้านตัวต่อปี ถือเป็นฐานการผลิตอันดับ 2 ของทางกลุ่ม โดยอันดับ 1 คือฐานผลิตในไทย และอันดับ 3 คือฐานผลิตในเวียดนาม
 
กรณีอียูจะถอนสิทธิทางการค้า โดยปรับขึ้นภาษีนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจาก 0% เป็น 12% ไม่กระทบกับทางกลุ่มมากเพราะได้ทำแผนร่วมกับลูกค้าโดยสั่งซื้อล่วงหน้า 3 ปี ขณะที่ผู้รับภาระภาษีคือผู้นำเข้าที่อาจต้องไปปรับราคาขายที่ปลายทาง อย่างไรก็ดีจากการขึ้นภาษีครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตจากฐานผลิตในไทยและกัมพูชาที่ส่งออกไปอียูจะใกล้เคียงกันมากขึ้น จากที่ผ่านมาต้นทุนผลิตในกัมพูชาตํ่ากว่า และลูกค้าได้ประโยชน์ไปก่อนหน้านี้แล้ว
 
“ฐานการผลิตในกัมพูชาเต็มกำลังการผลิตแล้ว ดังนั้นเราจะไปลงทุนขยายกำลังผลิตในเวียดนามแทน โดยที่เวียดนามได้ลงทุนและผลิตไปแล้ว 1 เฟส กำลังก่อสร้างในเฟสที่ 2 ใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตอีก 6-7 ล้านตัวต่อปี คาดกลางปีนี้โรงงานจะแล้วเสร็จ เมื่อรวมทั้ง 2 เฟสจะมีกำลังผลิต 12-14 ล้านตัวต่อปี และเมื่อรวมทั้ง 3 ฐานการผลิตทั้งในไทย กัมพูชา เวียดนาม ในปี 2563 เราตั้งยอดขายปีนี้ 68-69 ล้านตัว มูลค่า 530-550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือ 15,900-16,500 ล้านบาท คำนวณที่ 30 บาทต่อดอลลาร์) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12-15%”
 
นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรงงานรองเท้าของไทยที่ไปตั้งในกัมพูชามีน้อยมาก จากกัมพูชามีประชากรเพียง 15 ล้านคน และมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการผลิต หากอียูตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยขึ้นภาษีนำเข้ารองเท้าเป็น 8% (เดิม 0%) คงกระทบโรงงานไทยที่ไปตั้งในกัมพูชาเพื่อส่งออกไปอียูเช่นกัน ทั้งนี้หากเห็นว่าลงทุนแล้วไม่คุ้ม ผู้ประกอบการอาจพิจารณาหาฐานผลิตใหม่ เช่นย้ายไปตั้งในเวียดนามที่เวลานี้เวียดนามได้บรรลุความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียูแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้สินค้ารองเท้า และหลายสินค้าได้รับการยกเว้นภาษีส่งออกไปอียู
 
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นํ้าตาลขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานนํ้าตาลในกัมพูชาที่เกาะกง ของกัมพูชามากว่า 10 ปีแล้ว เป้าหมายเพื่อส่งออกไปตลาดอียู ส่งออกได้ประมาณ 1-2 หมื่นตันต่อปี โดยได้รับสัมปทานเช่าพื้นที่ปลูกอ้อยจากรัฐบาลกัมพูชาและส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกป้อนโรงงาน ถือเป็นโรงงาน นํ้าตาลแห่งเดียวของไทยในกัมพูชาในเวลานี้ อย่างไรก็ดีบริษัทได้หยุดดำเนินกิจการมา 1 ปีแล้ว ปีนี้จะหยุดอีกเป็นปีที่ 2 จากมีปัญหา เช่น พื้นที่เช่าจากรัฐบาลมีเกษตรกรไปร้องเรียนว่าไปแย่งที่ หรือบุกรุก ปัญหาด้านช่างเทคนิคไม่เพียงพอ ทำให้มีปัญหาด้านวัตถุดิบและต้นทุนสูง
 
“การเตรียมขึ้นภาษีนํ้าตาลจากกัมพูชาของอียู ไม่ใช่ประเด็นหลักที่กระทบต่อธุรกิจของบริษัทในกัมพูชา เพราะถ้าภาษีนำเข้านํ้าตาลของอียูปรับสูงขึ้น ราคานํ้าตาลนำเข้าก็จะสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะรับกรรม รัฐบาลอียูก็จะถูกประชาชนต่อว่าเอง จากเวลานี้ราคานํ้าตาลทรายในอียูเฉลี่ยที่ 1 ยูโร หรือประมาณ 34 บาทต่อกิโลกรัม บริษัทรอดูสถานการณ์อีกสักพัก หากมีผู้ร่วมทุนก็จะดำเนินการต่อ หรืออาจขายโรงงานเพื่อไปทำอย่างอื่น”
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ต้องจับตากัมพูชาจะสามารถเจรจากับอียูเพื่อให้ทบทวนก่อนเส้นตายได้หรือไม่ หากไม่ได้ และกัมพูชาถูกถอนสิทธิ นอกจากจะกระทบทางตรงต่อธุรกิจไทย และธุรกิจของต่างชาติที่ได้ลงทุนในกัมพูชา และมีการส่งออกไปอียูแล้ว จะกระทบทางอ้อมทำให้ชาวกัมพูชามีกำลังซื้อลดลงจากสินค้ากลุ่มหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปอียูอยู่ในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า มีแรงงานรวมกันกว่า 7.5 แสนคน อาจส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยที่ส่งออกไปกัมพูชาลดลงด้วย
 
 
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)