อานิสงส์โควิดพาคลื่นลงทุนระลอกใหม่บุกเวียดนาม
จับตาเวียดนามได้อานิสงส์จากโควิด-19 เตรียมรองรับการลงทุนจากต่างชาติระลอกใหม่ซึ่งย้ายฐานการผลิตออกจากหลายประเทศทั่วโลก
หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาชื่นชมความพยายามและมาตรการรับมือต่างๆของเวียดนาม จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในช่วงที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า เวียดนามได้มีการรับมืออย่างรวดเร็วและเด็ดขาด พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใส โดยเฉพาะมาตรการแยกตัว การปิดกั้นพื้นที่และการรักษาผู้ติดเชื้อให้หายดี รวมทั้งได้ประสานงานเป็นอย่างดีกับทุกประเทศในการป้องกันและรับมือการแพร่ระบาดในระดับโลก ทำให้เวียดนามมีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในลำดับต้นๆเช่นเดียวกับประเทศไทย
ล่าสุด เว็บไซต์ นสพ.Vietnamnet Global รายงาน ว่าเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งกำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 เช่นกรณีบริษัท Apple ของสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมสร้างโรงงานแห่งหนึ่งในเวียดนาม และบริษัท Samsung ของเกาหลีใต้ ซึ่งวางแผนย้ายสายการผลิตโทรศัพท์ smartphone บางรุ่นในเวียดนาม แต่เวียดนามจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น อินเดีย ไทย และมาเลเซีย ซึ่งมีนโยบายจูงใจนักลงทุนต่างชาติ
ก่อนหน้านี้นาย Hong Sun อุปนายกสมาคมสถานประกอบการสาธารณรัฐเกาหลีประจำเวียดนามหรือ Korcham ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่เพียงแต่นักลงทุนสาธารณรัฐเกาหลีแต่ยังมีนักลงทุนจากประเทศอื่นๆสนใจอยากหาโอกาสการลงทุนในเวียดนาม
ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 การจัดสรรเงินทุนเอฟดีไอในเวียดนามได้บรรลุประมาณ 12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ลดลงร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ ตัวเลขเอฟดีไอในเดือนเมษายนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 81 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมและเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 62 เทียบกับเดือนเมษายนของปี2562
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม อ้างอิงข้อมูลจาก Vietnam News ณ 30 ม.ค. 2563 ระบุว่า กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เผยว่าในช่วง 20 วันแรกของปี 2563 พบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือ เอฟดีไอ ไปยังเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 5,300 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 179.5%
ส่วนการลงทุนของเอฟดีไอทั้งปี 2562 ของเวียดนาม มีมูลค่ารวม 38,020 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนเอฟดีไอจากทั่วโลกเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มทุนของไทยก็ไปขยายฐานธุรกิจในเวียดนามต่อเนื่อง เช่น เอสซีจี ในธุรกิจปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ WHA และอมตะลงทุนนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มเซ็นทรัล ไทยเบฟในธุรกิจค้าปลีก ซีพีในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม นอกจากนี้มีกลุ่มกัลฟ์ ปตท. บี.กริมในธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน เป็นต้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2563