เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไหนดี?

หาคำตอบประเด็นเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบใด? จะเกิดขึ้นเร็วเหมือนรูปตัว V หรือภาวะทรุดต่ำอาจลากยาวก่อนเริ่มฟื้นตัวคล้ายตัว U หรือยืนระยะอยู่นานจนเหมือนเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เหมือนอักษรตัว L และมีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
อาทิตย์ที่แล้ว สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (ประเทศไทย) ขอสัมภาษณ์ผมเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เช่น ตัว V ตัวU หรือตัว L จากที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.วีรไท สันติประภพ ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจคงจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการฟื้นตัว และรูปแบบการฟื้นตัวจะใกล้เคียงกับโลโก้ของไนกี้ คือ เป็นเครื่องหมายถูกหางยาว จึงอยากทราบความเห็นผมในเรื่องนี้
 
ในแง่เศรษฐศาสตร์ เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกกระทบอย่างรุนแรง คือ มี Shock เข้ามากระทบ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่มาจากภายนอกหรือภายในประเทศ ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจสะดุดหรือทรุดตัวลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจควรเริ่มฟื้นเมื่อ Shock ผ่านไป หรือลดความรุนแรงลง การฟื้นตัวอาจเกิดขึ้นเร็วเหมือนรูปตัว V หรือ ภาวะทรุดต่ำอาจลากยาว ก่อนเริ่มฟื้นตัว คล้ายตัว U หรือยืนระยะอยู่นานจนดูเหมือนเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เหมือนอักษรตัว L
 
ในเรื่องนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ ไม่มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ที่จะอธิบายว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร การฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่ทำให้การฟื้นตัวช้าหรือเร็ว ซึ่งจากประสบการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในอดีต ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คือ
 
หนึ่ง ขนาดความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจาก Shock ดังกล่าวว่ารุนแรงขนาดไหน คือ ถ้าขาลงเป็นเพียงผลของ Shock ที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลงหรือสะดุดชั่วคราว ขณะที่ความสามารถในการผลิตของเศรษฐกิจ หรือด้านอุปทานไม่เสียหาย ระบบการเงินยังทำงานได้อย่างเป็นปรกติ การฟื้นตัวก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว ตัวอย่างเช่น เกิดทุนไหลออกฉับพลันจากการสูญเสียความเชื่อมั่นรุนแรงของนักลงทุนจนระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักแต่เมื่อความเชื่อมั่นกลับมา เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้เร็ว
 
ตรงกันข้าม ถ้าด้านการผลิตของประเทศถูกกระทบ เช่น จากภัยธรรมชาติ และระบบการเงินของประเทศไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ การฟื้นตัวก็จะใช้เวลาเพราะต้องซ่อมแซมกำลังการผลิตและระบบการเงิน หรือในกรณีที่ระบบการผลิตเสียหายมาก เช่น เกิดสงคราม กำลังการผลิตถูกทำลายพร้อมกับระบบการเงินทำงานไม่ได้และความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงแทบเป็นศูนย์ การฟื้นตัวก็จะใช้เวลานานเหมือนตัว L คือใช้เวลานานมากกว่าที่ความมั่นใจของภาคธุรกิจและประชาชนจะกลับคืนมา 
 
สองคือ นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤติว่า นโยบายพร้อมไหม ทำได้ตรงประเด็นหรือไม่และมีทรัพยากรเพียงพอไหมที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ถ้าทำได้ดี ความเชื่อมั่นก็กลับมาเร็ว มีเงินทุนต่างประเทศไหลกลับ ธุรกิจในประเทศกลับมาลงทุน คนในประเทศกลับมาใช้จ่าย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นเร็ว เทียบกับกรณีที่นโยบายหรือผู้ทำนโยบายไม่เป็นที่ยอมรับ ความเชื่อมั่นก็ไม่มี การฟื้นตัวก็จะช้า
 
สาม มีตัวช่วยจากภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลก ถ้าเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี แม้ประเทศจะเกิดวิกฤติแต่ถ้าต่างประเทศยังค้าขายได้ ค่าเงินของประเทศไม่เป็นปัญหา การส่งออกก็ขยายตัว สนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ ตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่สนับสนุน การฟื้นตัวต้องพึ่งปัจจัยในประเทศอย่างเดียว การฟื้นตัวก็จะใช้เวลา
 
นี่คือ 3 ปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจไทยปี 40 เศรษฐกิจเสียหายจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ความสามารถในการผลิตไม่เสียหาย แค่ภาคเศรษฐกิจจริงขาดทุนมากจากเงินบาทที่อ่อนค่าและธุรกิจมีหนี้ต่างประเทศมาก ฐานะการเงินของบริษัทจึงถูกกระทบ และส่งผลต่อเนื่องถึงฐานะของสถาบันการเงิน แต่ช่วงนั้นนโยบายแก้ไขเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับและเศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินบาทที่อ่อนลงทำให้การส่งออกขยายตัวได้มาก เงินทุนต่างประเทศก็เปลี่ยนเป็นไหลเข้า
 
ดังนั้น แม้เศรษฐกิจจะทรุดตัวรุนแรงในปี 2541 หลังการลอยตัวค่าเงินบาทกลางปี 2540 แต่เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวในปี 2542 รูปแบบการฟื้นตัวคราวนั้นจึงผสมผสานระหว่างตัว V และตัว U และที่ออกไปเป็นตัว U ก็เพราะความเสียหายที่มีต่อระบบการเงินที่ใช้เวลาในการแก้ไข
 
สำหรับวิกฤติคราวนี้ ผู้ว่าการฯ ธปท.มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2  และการฟื้นตัวจะเป็นแบบเครื่องหมายถูกหางยาว คือ ขาขึ้นจะไปได้ช้าและใช้เวลา คือประมาณสองปีก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิด เพราะภาคส่งออกและท่องเที่ยวจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจากที่เศรษฐกิจโลกถูกกระทบมากจากโควิด-19  นอกจากนี้ การว่างงานที่มีมากก็จะเป็นตัวถ่วงฉุดรั้งกำลังซื้อในประเทศ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยิ่งช้าออกไป ทั้งหมดตั้งอยู่บนข้อสมมุติว่า จะไม่มีการระบาดรอบสองในประเทศ
 
ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ไม่คิดว่ากระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะไปต่อได้เรื่อยๆ สบายๆ แบบเครื่องหมายถูกหางยาว ตรงกันข้าม ผมเห็นว่าความเสี่ยงระยะข้างหน้าจะมีมาก สำคัญที่สุดคือการระบาดของโควิดที่ยังไม่หยุดในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นรอบแรกที่ยังไม่จบในหลายประเทศ และบางประเทศที่มีรอบสองทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะผันผวนขึ้นๆ ลงๆ กลับไปกลับมา ตามการระบาดและการกลับมาระบาดของโควิด
 
ผลคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะกลับไปกลับมาแบบตัวอักษร W ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งเศรษฐกิจโลกมากก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามไปด้วย ตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการระบาดภายในประเทศก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังและปฏิเสธไม่ได้ รวมถึงการเมืองในประเทศเองที่จะมีผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายและต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในความสามารถของผู้บริหารประเทศที่จะทำนโยบายแก้ไขเศรษฐกิจ
 
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ Smooth อย่างที่อยากเห็นแต่ อาจขึ้นๆ ลงๆ เหมือนตัว W แต่จะเป็นตัว W ขาขึ้น
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 กรกฏาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)