เศรษฐกิจไทยต่ำสุดหรือยัง

“เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง” เป็นคำถามที่หลายฝ่ายยังกังขา และถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง
 
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า ไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ที่ว่ากันว่าหนักหนาสาหัส สุดท้ายจะออกหน้าไหนกันแน่ แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เชื่อว่าเศรษฐกิจ ไทยผ่านจุดต่ำสุดมาตั้งแต่ไตรมาส 2 หลังจากควบคุมการแพร่ระบาดได้ผล
 
มาตรการการผ่อนคลายต่าง ๆ ที่ทยอยออกมา ยอมให้ภาคธุรกิจเปิดให้บริการอีกครั้ง ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น รวมถึงช่วงหยุดยาว 4 วันสัปดาห์ก่อนหน้าโน้น ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รอบกรุงเทพมหานคร พัทยา ระยอง หัวหิน เขาใหญ่ กลับมาคึกคัก รถติดเป็นแพยาวเหยียด
แต่ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย
 
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจอย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร เตือนว่า “อย่าเพิ่งคิดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะต่อเนื่อง เพราะเป็นเพียงการดูจากตัวเลขบางตัว และบางตัวแปรเท่านั้น”
 
เร็ว ๆ นี้คงมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ออกมา ซึ่งน่าจะเป็นการติดลบ 2 หลัก ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะเป็นแบบนั้นเป็นผลจาก เมื่อย้อนไปในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 มีการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงเกือบทั้งหมด
 
โอกาสที่เศรษฐกิจสะดุดมาจากจำนวนลูกหนี้ที่มีปัญหา และขอผ่อนปรน ตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมาในช่วงเดือนเมษายน 2563 มีถึง 12.6 ล้านบัญชีที่ขอไม่จ่ายทั้งดอกและต้น
คิดเป็นมูลหนี้รวมกัน 6.7 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด
คิดดูง่าย ๆ ลูกหนี้ 3 คน จะมี 1 คนที่ขอไม่จ่ายทั้งต้นและดอก
 
ในขณะที่นักธุรกิจใหญ่ในภูเก็ตสะท้อนว่า สถานการณ์เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง สภาพโดยรวมยังเงียบเหงา
 
ไม่แปลกอะไรที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ดร.ศุภวุฒิจะแสดงความห่วงใยถึงเอสเอ็มอี 1.1 ล้านราย ซึ่งมีมูลหนี้รวมกัน 2.2 ล้านล้านบาท และส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งสายป่านไม่ได้ยาวอะไร บวกกับลูกหนี้ “รายย่อย ๆ” อีก 11.5 ล้านราย มูลค่าหนี้รวมกันอีก 3.77 ล้านล้านบาท
 
“บอกได้เลยว่าขนาดของปัญหาใหญ่กว่าวิกฤตปี 2540 มาก ตอนนั้นมีคนตกงาน 1.5 ล้านคน แต่ครั้งนี้พบคนตกงานแล้ว 3 ล้านคน ซึ่งอาจกลายเป็น 5-6 ล้านคนได้ในอนาคต”
 
สิ่งที่ ดร.ศุภวุฒิกังวลคล้าย ๆ กับที่ภาคธุรกิจกำลังจับจ้องนั่นคือ เมื่อมาตรการผ่อนปรนของแบงก์ชาติสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2563 แน่นอนว่าแบงก์พาณิชย์ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับลูกหนี้ อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น ในเมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแทบไม่มีสายป่าน เงินทุนจำกัดเก่งยังไงก็กัดฟันสู้ได้ไม่นาน  
 
มีโอกาสสูงมากฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 4 สะดุด ไม่รวมเหตุผลที่ว่าคนไทยตอนนี้มีเงินในกระเป๋าน้อยลง ถึงพอจะมีแต่การใช้จ่ายคิดหน้าคิดหลัง ให้ป้ายลดราคาอยู่ตรงหน้า ยังไม่ค่อยกล้าใช้จ่าย
 
ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะยังมีงานทำอยู่ไหม หรือจะถูกลดเงินเดือน ลดสวัสดิการเหมือนที่อื่น ๆ หรือไม่
 
คำถามที่ ดร.ศุภวุฒิโยนให้กับรัฐบาล ซึ่งเพิ่งได้ตัว รมว.คลังสด ๆ ร้อน ๆ คือ ในขณะที่สหรัฐทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 10% ของจีดีพี และจะใส่เพิ่มอีก 5% ส่วนอียูให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในกลุ่ม 4% ของจีดีพี แต่ละประเทศใส่เองอีก 5-10% ของจีดีพี ส่วนไทยใส่เงินเพื่อกระตุ้นไปแค่ 3% ของจีดีพี เราควรทำอะไรตรงนี้เพิ่มหรือไม่
 
เพราะฉะนั้นหากจะฟันธงว่าเศรษฐกิจไทยได้ถึงจุดต่ำสุด เช่นเดียวกับเหมารวมภาพผู้คนออกมาช็อปปิ้งตามห้าง พักผ่อนตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ว่าเศรษฐกิจไทยกลับฟื้นแล้ว อาจเป็นการสรุปที่เร็วเกินไปด้วยซ้ำ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)