ข้อคิด "เศรษฐกิจ" ครึ่งปีหลัง

เปิดวิเคราะห์สถานการณ์ "เศรษฐกิจไทย" ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จะเดินไปในทิศทางใด จะได้ข่าวดีจากการชะลอตัวของการหดตัวเศรษฐกิจหรือไม่ หรือเศรษฐกิจไทยจะดำดิ่งหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกจะส่งแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง?
 
ช่วงนี้ผมถูกถามบ่อยว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร จะฟื้นตัวหรือไม่ เพราะข่าวที่ออกมาและประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีจากสำนักต่างๆ ดูหดหู่มาก
 
ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกลไกหลักของการฟื้นตัวเศรษฐกิจถูกมองว่ายังขาดความชัดเจน วันนี้จึงอยากให้ความเห็นเรื่องนี้ พิจารณ์จากข้อมูลล่าสุดต่างๆ ที่ออกมา
 
หนึ่ง :
เศรษฐกิจไตรมาสที่สอง จากตัวเลขที่แบงก์ชาติประเมินคือ หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสหนึ่งในอัตราร้อยละ 10 หรือมากกว่า ซึ่งไม่แปลกใจเพราะไตรมาสสอง ยังเป็นผลของมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็มีการเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการโอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ไตรมาสสองควรเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจทรุดดิ่งลงมากที่สุด พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อมาตรการล็อกดาวน์จบลง และเริ่มมีการผ่อนปรนต้นเดือนพฤษภาคม
 
ที่น่าสนใจคือ ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่สองของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เทียบกับตัวเลขเดือนพฤษภาคม จะเห็นว่า แม้ตัวเลขยังแสดงการหดตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่รุนแรง แต่อัตราการหดตัวในทุกข้อมูล ทั้งด้านการผลิต การใช้จ่าย การส่งออก การนำเข้า ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ล้วนแสดงการหดตัวในอัตราที่ลดลงเทียบกับเดือนพฤษภาคม
 
คือ อัตราการทรุดตัวของเศรษฐกิจเริ่มลดลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นศูนย์ทั้งไตรมาส
 
อย่างไรก็ตาม ผลของการทรุดตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก ได้สร้างปัญหามากต่อการมีงานทำ และความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางเล็กและจิ๋ว ทั้งที่อยู่ในและนอกภาคการท่องเที่ยว 
 
ปัญหานี้เห็นได้จากตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานและผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จำนวนชั่วโมงทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราว ตัวเลขโฆษณาตำแหน่งงานว่างที่ลดลง และการปิดกิจการและการว่างงานในธุรกิจนอกระบบ (Informal sector) ทำให้ความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และการไม่มีงานทำเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจขณะนี้
 
สำหรับเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ เหตุผลก็เพราะสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง คือ มากกว่าครึ่งของประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ กลุ่มประเทศ G20 เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อัฟริกาใต้ ตุรกี รัสเซีย อินเดีย บราซิล สถานการณ์ระบาดรอบแรกยังไม่นิ่ง และบางประเทศยังเป็นขาขึ้น เช่น สหรัฐ บราซิล ขณะที่ประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย ที่เคยควบคุมการระบาดได้ในรอบแรกก็กำลังต่อสู้กับการระบาดรอบสอง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคงจะยังไม่เกิดขึ้นจริงจังจนกว่าการระบาดในประเทศสำคัญเหล่านี้ผ่อนคลายลง
 
ผลคือ ประโยชน์ที่เศรษฐกิจเราจะได้จากการฟื้นตัวของการส่งออก และการท่องเที่ยวก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกันในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ถ้าจะเกิดขึ้น ต้องมาจากปัจจัยในประเทศเท่านั้น คือ การใช้จ่ายของภาคธุรกิจ คนในประเทศ และรัฐบาล เป็นเศรษฐกิจไม่เต็มสูบ แบบ 70–80 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องอยู่ให้ได้โดยไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการส่งออก ยกเว้นในบางสินค้า เช่น อาหาร ที่ยังมีความต้องการจากต่างประเทศ นี่คือประเด็นที่ต้องยอมรับ
 
สอง :
เนื่องจากวิกฤติคราวนี้ เป็นทั้งวิกฤติสาธารณะสุข คือ โควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลจากโควิด-19 ทั้งในระดับประเทศและสากล การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้ต่อเนื่อง คือ ไม่มีการระบาดรอบสอง ซึ่งสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาใช้จ่าย สนับสนุนโดยการแก้ปัญหาและการใช้จ่ายของภาครัฐ อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง  และสร้างโมเมนตัมให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า
 
การลดความเสี่ยงของการระบาดรอบสองจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องให้ความสำคัญสูงสุด ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ การว่างงาน และความอยู่รอดของธุรกิจเอสเอ็มอี ในเรื่องนี้ประสบการณ์จากหลายประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ดีในรอบแรก แต่ต้องเผชิญกับการระบาดรอบสอง เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม
 
ชี้ว่า การป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าเชื้อไวรัสจากต่างประเทศ โดยนโยบายการเปิดประเทศที่ระมัดระวังและระบบกักตัวที่เข้มแข็งนั้นสำคัญมาก เพราะในหลายประเทศต้นเหตุสำคัญของการระบาดรอบสองมาจากนโยบายเปิดประเทศที่เร็วหรือไม่ระมัดระวังมากพอ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือระบบกักตัวที่หละหลวม และตัวอย่างจากประเทศเหล่านี้ก็ชี้ว่า การระบาดรอบสองถ้าเกิดขึ้นอาจควบคุมยากกว่าในรอบแรก เพราะเชื้อไวรัสจากต่างประเทศในรอบสองอาจระบาดได้ง่ายกว่ารอบแรก
 
หรือทางการอาจหย่อนหรือประมาทในเรื่องการเฝ้าระวังทำให้มาตรการแก้ไขออกมาช้าจนการระบาดบานปลาย และต้องประกาศล็อกดาวน์อีก สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการฟื้นตัว นอกจากนี้ ความร่วมมือของประชาชนที่จะช่วยลดการระบาดอาจไม่เหนียวแน่นเหมือนรอบแรก ทำให้ทางการอาจไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างที่หลายฝ่ายหวัง 
 
สาม :
การทำนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องสำคัญมาก เพื่อสร้างโมเมนตัมให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ณ จุดนี้ เราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากรที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ พิจารณาจากงบต่างๆ ที่มี ไม่ว่าจะเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจสี่แสนล้าน งบฉุกเฉินที่ตัดทอนจากงบประมาณ ปี 63 และตัวงบประมาณ ปี 64 เอง
 
แต่ที่ต้องมี คือ แนวทางชัดเจนที่จะใช้เงินเหล่านี้แก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจมีอย่างตรงจุดเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว ก็คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนที่ต้องการทำงาน ดูแลความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรที่เปราะบาง การช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อความอยู่รอด และช่วยให้ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาไม่มีรายได้ แต่มีศักยภาพ เช่น ท่องเที่ยว สามารถมีช่องทางหารายได้จากทางอื่น ด้วยการปรับโมเดลธุรกิจ หรือช่วยธุรกิจที่มีศักยภาพปรับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี เช่น เกษตร หรือส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพให้สนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก เช่น ด้านการแพทย์ เหล่านี้คือความช่วยเหลือที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
 
สามเรื่องที่พูดถึงนี้ ถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้และเป็นที่ยอมรับจากทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาล การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไปได้ต่อในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นฐานให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เข้มแข็งมากขึ้นในปีหน้า เมื่อสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 สิงหาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)