บิ๊กดาต้า สินทรัพย์มีค่าของเอเชีย

บิ๊กดาต้า สินทรัพย์มีค่าของเอเชีย โดยรัฐบาลในประเทศต่างๆเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรใหม่ของประเทศด้วยเหมือนกัน
 
ขณะที่บริษัทต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ให้ความสำคัญกับข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้ามากขึ้นในฐานะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพราะช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้เร็วขึ้น รัฐบาลในประเทศต่างๆก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรใหม่ของประเทศด้วยเหมือนกัน ไล่ตั้งแต่ที่อยู่ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค
 
ประเทศต่างๆเริ่มสร้างศูนย์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของตัวเองเป็นเหมือนที่เก็บสะสมสินทรัพย์ของประเทศและบางประเทศเริ่มผลักดันให้มีการออกกฏหมายจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ แต่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีกลับไม่เห็นด้วยและบอกว่าการสะสมข้อมูลขนาดใหญ่ในรูปแบบของการสร้างป้อมปราการด้านข้อมูลแบบนี้จะสกัดกั้นนวัตกรรม ที่ผ่านมา มีบางประเทศในภูมิภาคเอเชียเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ 8 ประเทศที่เรียกร้องให้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่พรมแดนประเทศตัวเอง
 
“เราวิตกกังวลว่าบทบัญญัติบางข้อในกฏหมายว่าด้วยการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ฉุดรั้งขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของบริษัทต่างๆ”กลุ่มซึ่งประกอบด้วยบริษัท30แห่ง รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างไมโครซอฟต์ และซีเมนส์ระบุในจดหมายเมื่อเดือนก.ย. โดยอ้างถึงการออกกฏข้อบังคับด้านการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา
 
กรอบงานดังกล่าวเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเก็บข้อมูลบนเซอร์เวอร์ภายในประเทศขณะที่ควบคุมการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างเข็มงวด และกฏข้อบังคับนี้ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แต่บังคับใช้กับข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรมด้วย ทำให้ภาคธุรกิจเกิดความวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถใช้ข้อมูลของตัวเองได้อย่างอิสระ
 
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินเดียระบุว่า ข้อมูลเป็นความมั่งคั่งรูปแบบใหม่ของประเทศ และขณะที่รัฐบาลหลายประเทศเริ่มที่จะยอมรับเรื่องมูลค่าทางการตลาดของข้อมูลขนาดใหญ่นั้น อินเดียและประเทศอื่นๆในเอเชียก็เริ่มดำเนินการด้านต่างๆเพื่อเก็บสะสมข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ในพรมแดนของตน
 
ขณะที่การศึกษาของศูนย์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปและมูลนิธิเทคโนโลยีและนวัตกรมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐระบุว่า มี8ประเทศเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการตั้งศูนย์กลางเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ในท้องถิ่น ในจำนวนนี้ 5 ประเทศอยู่ในเอเชีย รวมทั้ง จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งเพื่อสกัดบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติและช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ
 
ในส่วนของจีนและเวียดนาม มีมาตรการคุมเข้มด้านการถ่ายโอนข้อมูลไม่เฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แต่คุมเข้มด้านการถ่ายโอนข้อมูลที่ละเอียดอ่อน อาทิ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ขณะที่บรรดานักวิจารณ์มองว่า กฏข้อบังคับเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนและทำให้บริษัทที่พยายามปฏิบัติตามกฏมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และหลังจากประกาศใช้กฏข้อบังคับด้านข้อมูลขนาดใหญ่ได้ไม่กี่วัน รัฐบาลเวียดนามก็กล่าวหาเฟซบุ๊คว่าละเมิดกฏหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ในเดือนม.ค.ปี 2562
 
ส่วนอีก 38 ประเทศและภูมิภาค รวมทั้งสหรัฐและญี่ปุ่นไม่เข้มงวดเท่าเวียดนาม แต่กำหนดข้อจำกัดด้านอื่นๆแทน เช่นการส่งข้อมูลออกนอกประเทศ เช่น กำหนดให้มีการเซ็นต์ยินยอมจากต้นทางในกรณีเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ประเมินว่า บริษัทมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการข้อมูลสำนักงานในต่างประเทศหลายหมื่นดอลลาร์ด้วยกัน โดยบริษัทมีสาขาทั่วเอเชียและยุโรปรวม 6แห่ง และแต่ละแห่งมีการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกันไป
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)