โควิด เร่งสปีดภาคธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีฝ่าวิกฤติ
หอการค้าไทยจัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 38 หัวข้อ “ไทยช่วยไทย คือ ไทยเท่” เพื่อระดมความเห็นนักธุรกิจสำหรับทำข้อเสนอให้กับรัฐบาลเป็นแนวทางการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤติโควิด
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน ธุรกิจปรับ รับวิถีNew normal” วันที่ 26 พ.ย.2563 ว่า โควิดทำให้ทุกคนคิดถึงการอยู่รอดในอนาคต จึงเริ่มวางแผนการประหยัดและเลือกซื้อสินค้า เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ได้นานแค่ไหน ซึ่งความรุนแรงขึ้นของการระบาดขึ้นกับมาตรการของแต่ละในส่วนของไทย ซึ่งถือว่าวางแผนได้ดี และกระทบน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่ยังเปิดบริการร้านอาหารไม่ได้
ทั้งนี้ ซีพีเอฟลงทุน 17 ประเทศ และส่งออกไป 30 ประเทศ ซึ่งในประเทศที่ลงทุนไม่ได้รับกระทบ โดยเฉพาะจีนและเวียดนามที่ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งโควิดผลักดันให้ซีพีเอฟบรรลุวิสัยทัศน์การนำเทคโนโลยีมาใช้ง่ายขึ้น รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรในองค์กรอยู่แล้ว และการขยายตลาดทุกช่องทาง
“โควิดทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ ซีพีเอฟต้องปรับตัวและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่มาจำหน้าย เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะ สร้างความต่าง เช่นไก่เบญจา หมูชีวา ควบคู่ไปกับการผลิตอาหารธรรมดาทั่วไปที่มีความปลอดภัย “
ทั้งนี้ ซีพีเอฟเป็นองค์กรใหญ่มากทำให้การขับเคลื่อนทำได้ช้า แต่ทำอย่างไรจะแข่งขันกับกลุ่มสตาร์ทอัพได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างสตาร์ทอัพแต่ละแผนกใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น การติดตั้งเครื่องจับแรงสั่นสะเทือนในระบบการผลิตอาหารแปรรูป
นอกจากนี้เพื่อให้เข้าถึงปัญหาของลูกค้ามากขึ้น และหาข้อมูลเพื่อให้ซีพีเอฟเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งได้รับนักศึกษาจบใหม่ปีนี้ 400 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหอกเข้าไปแนะนำและแก้ไขปัญหา รายงานให้ส่วนกลางรับรู้ทุกระยะ โดยปี 2564 มีแผนจะรับนักศึกษาจบใหม่มากขึ้น
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าว่า การท่องเที่ยวเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และตามมาด้วยธุรกิจโรงแรม บ้านพัก และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีประเทศมากถึง 12-15 % โควิดที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีทำให้คาดว่าการท่องเที่ยวในปีนี้จะขายตัวเพียง 2.4 % และมีสัดส่วนในจีดีพีลดลงเหลือ 10%
แต่เนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่ดีมากโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวผลกระทบจึงน้อยกว่าที่คาดไว้ และเป็นไปได้ที่ในปีหน้าการท่องเที่ยวจะกลับมาและสร้างรายได้อย่างน้อย 2 ล้านล้านบาทจากเดิมก่อนโควิดสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท
การปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยว นักธุรกิจต้องรู้ว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นกลุ่มใด อย่างปัจจุบันคือนักท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้นต้องหาบริหารที่ตรงกับความต้องการให้มากที่สุด และหลังจากนี้การท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวคาดว่ากลุ่มคนเอเชียจะหันมาเดินทางกมาขึ้นจากเดิมที่เป็นกลุ่มตะวันตก
ดังนั้นธุรกิจต้องศึกษาข้อมูลและให้บริการตรงจุด ไม่เพียงแต่แต่ให้ตรงกับพฤติกรรมเท่านั้นแต่ต้องรวมถึงเชื้อชาติ ระดับอายุ ต้องให้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน บริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า โควิด 19 ทำให้ทุกอย่างเร่งสปีดขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2 ปีข้างหน้า แต่เหลือเพียง 2 เดือน เป็นความกดดันที่ต้องเร่งทำและปรับตัวทุกบริษัท และหากไม่พร้อมต้องลำบากในอีก 2 ปีข้างหน้า
สถานกาณ์การที่เกิดขึ้นสร้างโอกาสเพราะผู้คนเปิดรับการสื่อสารออนไลน์ที่มาแรงมากและเติบโตเร็วในทุกธุรกิจ ซึ่งสร้างการเติบโตมหาศาล เช่น ห้างสรรพสินค้าที่หยุดบริการแต่ขายออนไลน์ และเมื่อห้างเปิดกลับมาขายออฟไลน์อีกครั้งส่งผลให้ยอดขายเติบโตถึง 70%
นอกจากนี้ ไทยมีความหลากหลายที่น่าสนใจนำมาสร้างมูลค่า โดยกลุ่มสตาร์ทอัพมีพลังสูงมาก เช่น การสร้างแอพพลิเคชันสมาธิที่ทำตลาดได้มากเพราะโควิดทำให้เกิดความเครียด แต่นักธุรกิจต้องหาทางมองไปข้างหน้าปรับสินค้าให้เข้ากับตลาด
“นักธุรกิจต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร มองวิกฤติให้เป็นเรื่องปกติ เพราะวิกฤติจะเกิดซ้ำ ซึ่งทุกคนอาจคิดว่าโควิดร้ายแรงสุด ต้องปรับตัวรับสถานการณ์มากที่สุดแล้ว ผมมั่นใจว่าอีก 10 ปี การปรับเปลี่ยนจะเร็วและแรงกว่านี้ ดังนั้นทุกบริษัทต้องพร้อมทรานฟอร์ม“
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563