“โควิด-19” ไม่สะเทือนเวียดนามรัฐ-เอกชนมองเศรษฐกิจยังโตต่อเนื่อง โอกาสทองของนักลงทุนไทย
นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 64 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก (World Bank) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ "เอดีบี" (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ไว้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ "จีดีพี" (GDP) จะเติบโตอยู่ที่ 6.5-7.0%
ทั้งนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ส่งผลทำให้แม้ว่าปี 63 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มี GDP เติบโตถึง 2.91 % ในปี 63 โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ในอีก 5 ปี (2564-2568) ข้างหน้ารัฐบาลเวียดนามได้วางแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 10 ปี การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจฉบับใหม่ปี 2564-2573 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติเวียดนามที่คาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่สามารถนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า
“ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน และที่สำคัญเวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยปัจจุบันนักลงทุนชาวไทยเข้ามาในประเทศเวียดนามเวียดนามถึง 603 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 13 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 400 พันล้านบาทจัดอยู่ที่ลำดับ 9 ที่มีเข้ามายังเวียดนาม”
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นความสำเร็จของการลงทุนของไทยในเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนในปัจจุบัน
และการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามรวมถึงการเติบโตของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ความสามารถของนักธุรกิจไทยและนักลงทุนในเวียดนามในการร่วมมือกันซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตและการอยู่รอดในอนาคต
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ
ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะวีเอ็น (AMATAV) กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยปัจจุบันอมตะมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอยู่ทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของเวียดนาม มีทั้งหมด 6 โครงการรวมพื้นที่พัฒนา 2,500 เฮกตาร์หรือ 15,625 ไร่ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 840 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.72 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาสังคม – เศรษฐกิจ อมตะวีเอ็นก็ได้วางเป้าหมายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยแนวคิดเมืองอัจฉริยะครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน ชุมชน การผลิต การขนส่งและคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งมีความสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศของเวียดนามอีกด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 26 มกราคม 2564