"สินค้าไทย" เครื่องมือสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจ
"สินค้าไทย" เครื่องมือสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญทำให้รากฐานการผลิตของไทยเข้มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต รวมถึงสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง จะส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด
ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคงหนีไม่พ้นการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้สำรวจความต้องการภาคเอกชนที่ต้องการสั่งซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานเอง มีจำนวนกว่า 109 บริษัท พนักงานรวม 51,000 คน คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทางองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดหาวัคซีนโควิดมาให้ โดยไม่ใช้สัดส่วนที่รัฐบาลจะนำมาฉีดให้ประชาชน แต่เป็นล็อตต่อไปที่สั่งซื้อมาให้เอกชนนำไปฉีด และภาคเอกชนออกค่าใช้จ่ายเอง คาดว่าจะเริ่มฉีดให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2564
เรื่องนี้เอกชนยอมที่จะสั่งซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานในบริษัทหรือในโรงงานต่างๆ เอง เพราะมองว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากพนักงานคนใดคนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ต้องสั่งหยุดโรงงานเพื่อกักตัว ซึ่งจะสร้างความเสียหายมากกว่า เพราะบางโรงงานไม่สามารถหยุดการผลิต หรือหากหยุดจะเกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างหนัก เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเหล็ก ที่ไม่สามารถหยุดเดินเครื่องจักร หากภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีความแข็งแกร่ง ภาคเศรษฐกิจก็จะแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน
เมื่อพูดถึงภาคเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแล้ว อีกประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ “โครงการ Made in Thailand” ซึ่งเป็นภาคความภูมิใจของ ส.อ.ท.ที่ได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพราะมองว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวชี้ชัดว่าการพึ่งพาตลาดส่งออกมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก รวมทั้งการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกที่ปัจจุบันนี้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเด่นชัดขึ้น ส.อ.ท.จึงเห็นว่าเราควรมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับตลาดภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง
คำตอบจึงอยู่ที่การส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้โครงการ Made in Thailand เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง จะส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่แต่ละปีมีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดทำโครงการ Made in Thailand เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ล่าสุดกระทรวงการคลังได้แก้ไขกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องซื้อสินค้าจากโรงงานที่ผลิตภายในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง และการแข่งขันแต่ละโครงการจะต้องมีบริษัทของไทยไม่ต่ำกว่า 3 รายเข้าร่วม รวมทั้งยังให้แต้มต่อกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หากเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคาซึ่งเป็นต่างชาติไม่เกิน 3% ให้ซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบริษัทไทยรายนั้น โดยที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือเท่านั้น
ทั้งนี้ หากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ 60% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเอง ได้สั่งซื้อสินค้าคนไทยที่มีคุณภาพไม่แพ้ต่างชาติด้วยเช่นกัน
ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ภาคเอกชนจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานแสดงสินค้า Made in Thailand ครั้งใหญ่ เพื่อแสดงศักยภาพสินค้าไทยให้คนไทยได้เห็นและเลือกซื้อสินค้าไทยมากขึ้น สำหรับขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ไม่ยุ่งยากเลยครับ เข้ามาขอได้ทั้งนิติบุคคล บุคคล หรือถ้าสมัครเป็นสมาชิก ส.อ.ท.ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย
เราเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการทุกคน ให้ท่านเตรียมเอกสารขอรับรองรายการสินค้า MIT โดยให้ถ่ายรูปสินค้า สลากสินค้า ขั้นตอนผังกระบวนการผลิตสินค้า ใบรับรองมาตรฐานสินค้า สำเนาใบกำกับสินค้าจากซัพพลายเออร์และสำเนาใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration)
ส่วนวิธีการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้เข้าไปในเว็บไซต์ www.mit.fti.or.th ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ข้อมูลวัตถุดิบ ซึ่งเป็นไฟล์ Excel จากนั้นให้กรอกแบบฟอร์มและเตรียมเอกสารที่ได้ระบุไว้ข้างต้น พร้อมยื่นขอใบรับรอง MIT หลังจากนั้น ส.อ.ท.จะพิจารณาเอกสาร แล้วแจ้งผลการพิจารณาสินค้า MIT และค่าบริการ ซึ่งจะส่งไปทางอีเมล และสามารถชำระค่าบริการทางออนไลน์ได้ หลังจากชำระเงินแล้วให้ส่งเอกสารการชำระเงินกลับมาทางอีเมล และจะได้ใบรับรอง MIT อิเล็กทรอนิกส์ สามารถดาวน์โหลดพร้อมใช้งานได้ทันที
ขั้นตอนต่างๆ ไม่ยุ่งยากเลยครับ ยิ่งเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ ยิ่งคุ้มค่ามาก หากท่านผู้อ่านหรือนักธุรกิจท่านใดอยากทราบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์ของสภาอุตสาหกรรมฯ @ftithailand หรือทักเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊คของผมตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.facebook.com/ftichairman
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 เมษายน 2564