เด็กพาหะเงียบแพร่เชื้อโควิด-19
ผลวิจัยในฮ่องกงพบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างเงียบๆ และอาจมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนด้วย
ส่วนผลวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า เด็กจะมีปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายสูงกว่าผู้ใหญ่ที่มีอาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในไอซียู
เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถอยู่รอดได้ในตัวอย่างอุจจาระของเด็กนานถึง 36 วัน การตรวจเชื้อจากอุจจาระจึงนับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสำหรับกลุ่มเด็ก
ผลวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 กับเด็ก มีการเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่โรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ของโลก โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบของโควิด-19 ต่อเด็ก ที่พบว่าเด็กๆ มักจะมีอาการป่วยไม่รุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แม้ว่าในระยะหลังอาจจะเริ่มพบอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มเด็กก็ตาม แต่สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การที่เด็กไม่แสดงอาการป่วย แต่กลับเป็นพาหะนำเชื้อไปแพร่ระบาดอย่างเงียบๆ ในครอบครัว หรือลามไปถึงชุมชน
ล่าสุดจากงานวิจัยในฮ่องกงพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีในฮ่องกงที่ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่แสดงอาการป่วย ทำให้พวกเขากลายเป็นพาหะเงียบที่นำเชื้อไปติดต่อสู่คนในชุมชนโดยไม่รู้ตัว
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถอยู่รอดได้ในตัวอย่างอุจจาระของเด็กคนหนึ่งนานถึง 36 วัน นอกจากนี้นักวิจัยยังอ้างอิงถึงการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กจะมีปริมาณเชื้อไวรัสในตัวมากกว่าผู้ใหญ่ แม้ว่าผู้ใหญ่รายนั้นจะอาการหนักถึงขั้นเข้าห้องไอซียูก็ตาม จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า เด็กจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เป็นวงกว้าง และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการแพร่เชื้อในชุมชน ดังนั้นในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งทำงานหนักเพื่อคุมการระบาดจากกลุ่มเสี่ยง นี่ย่อมเป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องเร่งหาทางป้องกันและหลีกเลี่ยงการกระจายเชื้อจากเด็กเล็กด้วยเช่นกัน
นักวิจัยชี้ว่า การตรวจเชื้อโควิด-19 จากอุจจาระของเด็กน่าจะมีความแม่นยำ ปลอดภัย และเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงที่โรงเรียนใกล้จะกลับไปเปิดภาคเรียนอีกครั้งหลังวันหยุด โดยเมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลฮ่องกงระบุว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการในโรงเรียน โดยจะให้นักเรียนจำนวน 2 ใน 3 กลับมาเข้าเรียนในห้องเรียนได้ หลังจากเทศกาลอีสเตอร์
มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ได้เปิดให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อจากอุจจาระเด็กฟรี มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้วและสามารถตรวจไปได้ทั้งหมด 17,500 ตัวอย่าง จนถึง 25 มีนาคมของปีนี้ ในจำนวนนี้พบว่ามีเด็ก 22 คน มีผลเป็นบวก หรือคิดเป็น 2 คนต่อการตรวจทุกๆ 1,000 คน ขณะที่พบผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของเคสผู้ติดเชื้อทั้งหมด ในจำนวนนี้ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเด็กอายุ 6 ปี และต่ำกว่านั้น ข้อมูลยังชี้ด้วยว่า ฮ่องกง มีอัตราส่วนของผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก มากกว่าที่พบในจีนแผ่นดินใหญ่ อิตาลี สเปน และสหรัฐอเมริกา
หากนับจนถึงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฮ่องกงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวม 11,429 ราย ในจำนวนนี้ 201 ราย เป็นเด็กอายุ3 ขวบ และต่ำกว่า และมี 40 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่แสดงอาการ ขณะที่ข้อมูลของปีที่แล้วพบว่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลก มีผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ และเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเช่นกัน
สำหรับเหตุผลที่ผู้ป่วยเด็กไม่ค่อยแสดงอาการป่วยโควิดอย่างรุนแรง เกิดจากโครงสร้างภายในร่างกายที่ยังคงไม่เสื่อมโทรมเหมือนผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเส้นเลือดที่ยังไหลเวียนได้ดี ไม่ตีบ หรือถูกเกาะด้วยไขมัน ทำให้ลดความเสี่ยงจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ขณะเดียวกันเด็กๆ มักจะยังไม่มีภาวะน้ำหนักเกินโรคอ้วน เบาหวาน หรือโรคไต หรือหัวใจ จึงทำให้เมื่อรับเชื้อเข้าไป จึงไม่มีภาวะอาการป่วยแทรกซ้อนจนทำให้อาการรุนแรงขึ้นเหมือนผู้สูงวัย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่พบเด็กๆที่มีอาการรุนแรงหลังรับเชื้อ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการป่วยอยู่แล้ว เช่น เป็นมะเร็ง หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ ก็อาจมีความเสี่ยง และอันตรายถึงชีวิตหากได้รับเชื้อเช่นกัน นอกจากนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการต่อเนื่องหลังไม่พบเชื้อแล้วเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ อย่างอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ หายใจลำบาก และใจสั่น (ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล, SCMP, บลูมเบิร์ก)
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 14 เมษายน 2564