"สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น-เยอรมนี" ครอง4ชาติศก.ใหญ่สุดในโลก
"สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น-เยอรมนี" ครอง 4 ชาติศก.ใหญ่สุดในโลก ขณะที่รายงานวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซีระบุว่าเกาหลีใต้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 และคาดว่าจะอยู่อันดับนี้จนถึงปี 2569 เป็นอย่างน้อย
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี นำเสนอรายงานวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในช่วงก่อนและหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยอาศัยฐานข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) พบว่า การระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้การจัดอันดับประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกสั่นคลอนหลังจากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่สหรัฐ จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนี ยังคงครองสี่อันดับแรกในฐานะประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าการจัดอันดับครั้งนี้มีหนึ่งประเทศหลุดจากท็อป 10
รายงานของซีเอ็นบีซี เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับประเทศต่างๆที่ระบุไว้ในฐานข้อมูล รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟ
ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ที่กำหนดจะประมาณการจากมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการสำเร็จรูปทั้งหมดที่ผลิตในระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ลดทอนการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา หรืออัตราเงินเฟ้อ
และต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการจัดอันดับ 10 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงก่อนและหลังการระบาดของโรคโควิด-19
ศก.อินเดียโตตามหลังสหราชอาณาจักร :
รายงานของซีเอ็นบีซี ระบุว่า อินเดีย ซึ่งกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี 2562 แต่ปี2563 การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้อันดับของอินเดียลดลงไปอยู่ในอันดับที่ 6 ตามหลังสหราชอาณาจักรในปี 2563
นอกจากนี้ อินเดียยังไม่ได้อยู่อันดับที่ห้าในการจัดอันดับเศรษฐกิจโลกจนถึงปี 2566 เนื่องจากอินเดียได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการเข้มงวดเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 และไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะหดตัว 8% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค. ปี2564
ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 12.5% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปี 2565 แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า สถานการณ์โควิด-19ระบาดในปัจจุบัน อาจทำให้ความคาดหวังของอินเดียหมดไป โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียแซงหน้าบราซิล ในการเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ
“เรามีความกังวลมากขึ้นว่าโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมากขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอินเดียซึ่งยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม” นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกาให้ความเห็น
นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ ยังคาดการณ์ว่าหากมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอินเดียอีกครั้งจะทำให้คะแนนจีดีพีประจำปีของอินเดียลดลง 100-200 คะแนน
ขณะนี้อินเดียกำลังสาละวนอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ที่รัฐบาลไม่มีระเบียบการดูแลแน่ชัด ผนวกกับเจอไวรัสโคโรน่ากลายพันธุ์ซ้ำ ส่งผลให้เดือนเดียวมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกเกือบ 3.5 ล้านคน
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขวานนี้ (21เม.ย.) ระบุว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงมีผู้เสียชีวิต 2,023 คน ติดเชื้อรายใหม่ 295,000 คน มากที่สุดในโลกพอๆ กับตัวเลขการเสียชีวิตของสหรัฐเมื่อเดือน ม.ค.
ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียมีงานใหญ่หลายงาน เช่นงานกุมภเมลาของศาสนาฮินดูที่มีคนไปร่วมหลายล้านคน บ้างก็ไปร่วมงานหาเสียง งานแต่งงานหรูหรา และการแข่งขันคริกเก็ตกับทีมอังกฤษ
บราซิลหลุดท็อป 10 :
บราซิลเปลี่ยนจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับเก้าในปี 2562 มาอยู่อันดับที่ 12 ในปีที่แล้ว เป็นประเทศเดียวที่หลุดจากท็อป 10 และรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า บราซิลจะไม่อยู่ใน 10 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกไปจนถึงอย่างน้อยปี 2569
บราซิลมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงเป็นอันดับสามและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่ประธานาธิบดีฌาอีร์ เมซีอัส โบลโซนารู ของบราซิล ที่มองข้ามภัยคุกคามของโรคระบาดนี้ ปฏิเสธมาตลอดที่จะล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการระบาด
กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลเตือนรัฐบาลกลางว่า ประเทศใกล้ล่มสลายขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ว่าเศรษฐกิจของบราซิลกำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นตัว ขณะที่ข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจบราซิลหดตัว 4.1% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจบราซิลจะขยายตัว 3.7% ในปี 2564
เกาหลีใต้ติดท็อป10 :
รายงานวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซี ระบุว่า เกาหลีใต้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 และคาดว่าจะอยู่อันดับนี้จนถึงปี 2569 เป็นอย่างน้อย โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆนอกเหนือจากจีนที่รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 และประเทศนี้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคนี้เมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่งช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวเพียงเล็กน้อย 1% ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ทำให้ทางการเกาหลีใต้ต้องขยายมาตรการสร้างระยะห่างทางสังคม ที่รวมถึงห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆไปจนถึงต้นเดือนพ.ค.
บรรดานักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระบุในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถึงแม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะสร้างความไม่แน่นอนแก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ภาคการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและการส่งออกของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
“การบริโภคในประเทศเข้ามาชดเชยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19ได้อย่างดี โดยเฉพาะการช็อปปิ้งออนไลน์ แต่อุตสาหกรรมภาคบริการและการสันทนาการต่างๆยังคงอ่อนแออยู่มาก” เศรษฐศาสตร์จากแคปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าว
ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะเติบโต 3.6% ในปีนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2564