ท่าเรือหวุงอ่าง – สปป.ลาวกับทางออกทะเลในเวียดนามที่คาดว่าสร้างรายได้ถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564
สปป.ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเลประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเนื่องจากต้องขนส่งสินค้าผ่านต่างประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดและร่วมรบชนะสงครามอินโดจีน ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ของเวียดนามได้สัญญากับประธานประเทศไกสอน พมวิหาน ที่จะให้ลาวมีทางออกทะเลผ่านเวียดนามโดยท่าเรือที่ถูกเลือกเพื่อการดังกล่าวคือ ท่าเรือหวุงอ่าง ตั้งอยู่ที่จังหวัด Ha Tinh อำเภอ Ky Anh ภาคกลางของเวียดนาม
ท่าเรือหวุงอ่างมีลักษณะเป็นท่าเรือน้ำลึกธรรมชาติ มีแหลม Ron Cape เป็นกำบังทางธรรมชาติ เริ่มเปิดใช้ 2544 ลงทุนเริ่มแรกประมาณประมาณ 280 ล้านบาท สปป.ลาว ถือหุ้นร้อยละ 20 เวียดนาม ร้อยละ 80 ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2563 นางวิไลคำ โพสาลาด รองรัฐมนตรีโยธาธิการฯ เปิดเผยว่า ทั้งสองประเทศเห็นชอบเพิ่มหุ้นให้ สปป.ลาว โดย สปป.ลาวถือหุ้นร้อยละ 60 และ เวียดนามร้อยละ 40 กำหนดระยะเวลา 70 ปี และต่ออายุได้
ท่าเรือดังกล่าวส่งออก-นำเข้าให้แก่ สปป.ลาวร้อยละ 25 ให้แก่เวียดนาม ร้อยละ 75 สินค้าที่ส่งออกหลักของท่าเรือ ได้แก่ แร่เหล็ก โพแทสเซียม ไม้แปรรูป และนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้าง ถ่านหิน เชื้อเพลิง จุดหมายปลายทางหลักของการส่งออกได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนำเข้าเกือบทั้งหมดจากจีน
.
ทำเรือให้บริการสินค้ามากกว่า 3.3 ล้านตัน สร้างรายได้ 182.8 พันล้านดง หรือประมาณ 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีปี 2563 และในปี 2564 คาดว่าจะให้บริการ 3.6 ล้านตัน สร้างรายได้ 195 พันล้านดัง หรือประมาณ 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงท่าเรือหวุงอ่างอีกมากมาย เช่น การสร้างท่าเทียบเรือออกไปยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ขนส่งได้ถึง 100,000 ตัน เพราะการขนส่งถ่านหินจะคุ้มทุนที่สุดถ้าหากขนได้ตั้งแต่ 70,000 ตันขึ้นไป โดยต้นทุนขนส่งจะลดจาก 5 ดอลลาร์สหรัฐเหลือเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเฟสที่ 1 เริ่มปรับปรุง 2564 คาดจะแล้วเสร็จในปี 2566 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงมีการคาดการณ์ว่าโครงการจะเลื่อนออกไปประมาณ 6 เดือน
ถึงอย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือหวุงอ่างอาจส่งผลให้ สปป.ลาว พึ่งพาเวียดนามมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ จากที่ปกติจะพึ่งพาไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ ท่าเรือหวุงอ่างอาจชิงส่วนแบ่งตลาดลูกค้าจาก สปป.ลาวของท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากปัจจุบันสินค้าส่วนมากของ สปป.ลาวนำเข้าและส่งออกผ่านทำเรือแหลมฉบัง แต่การที่ สปป.ลาว มีช่องทางอื่นเป็นทางเลือกย่อมลดรายได้ของท่าเรือและผู้ประกอบการขนส่งที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องจึงควรเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาท่าเรือหวุงอ่างเป็นโอกาสในการลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยใน สปป.ลาว และจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย เช่น อุดรธานี สกลนคร นครพนม ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งจะสามารถช่วยย่นระยะเวลาไม่ต้องส่งสินค้าลงมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถขยายตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ผ่านทางเวียดนามได้ง่ายยิ่งขึ้นและมีต้นทุนที่น้อยลง
ที่มา globthailand.com
วันที่ 4 มิถุนายน 2564