จับตาโควิดคลัสเตอร์โรงงานบั่นทอน "ส่งออก-ศก." ฟื้นตัว
จับตาโควิดคลัสเตอร์โรงงานบั่นทอนการส่งออกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่สื่อจีนอย่างเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ เตือนว่า การเปิดท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นอาจไม่มากพอดึงเศรษฐกิจไทยฟื้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในสายตาของสื่อต่างชาติตลอดมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การระบาดของโควิด-19 ในโรงงานหลายระลอก เพิ่มความกังวลว่าการส่งออกของไทยจะเสียหายหนัก ส่อเค้าบั่นทอนเศรษฐกิจที่พยายามฟื้นตัวจากโควิด หลังจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปแล้ว ขณะที่เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์เตือนว่า การเปิดท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นอาจไม่มากพอดึงเศรษฐกิจไทยฟื้น
รอยเตอร์ระบุว่า โควิด-19 เล่นงานโรงงานไทยกว่า 130 แห่ง รวมถึงโรงงานผลิตป้อนแบรนด์ต่างประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 7,100 คนใน 11 จังหวัด คลัสเตอร์โรงงานจึงเป็นคลัสเตอร์ใหญ่นอกเหนือจากเรือนจำและแคมป์ก่อสร้าง
ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่า แม้โรงงานที่เกิดการระบาดจะเป็นแค่สัดส่วนเล็กน้อยจากโรงงานราว 63,000 โรงทั่วประเทศไทย ที่ว่าจ้างแรงงาน 3.4 ล้านคน แต่ทางการกังวลกลัวจะส่งผลต่อการส่งออก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปแล้ว
ในปี 2563 การส่งออกคิดเป็น 45% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักหดตัวลงถึง 6.1% เมื่อปีก่อน และเดือนที่ผ่านมารัฐบาลปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงจาก 2.5%-3.5% มาอยู่ที่ 1.5%-2.5%
เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับรอยเตอร์ว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ถุงมือยาง และอาหาร เป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังเร็วเกินไปจะประเมินผลกระทบโดยรวม
“ถ้ายังเป็นเช่นนี้ความเสียหายจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นโรงงานต้องฉีดวัคซีนให้ครบ” เกรียงไกรกล่าว
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคิือ โรงงานบางแห่งเกิดโควิดระบาดจนต้องลดการผลิตลง เช่นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่ส่งออกสินค้าจากไทยไปยัง 40 ประเทศ กล่าวว่าโรงงานแห่งหนึ่งที่ถูกปิดไปเพราะโควิดระบาดคิดเป็น 10% ของการผลิตเนื้อไก่
ด้านผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” ปิดโรงงานผลิตวุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยวหนึ่งแห่ง ยอดขายในต่างประเทศของโรงงานแห่งนี้คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูปของบริษัท
ส่วนบางโรงงานยังคงเดินหน้าปฏิบัติการบางส่วน ขณะที่อีกหลายแห่งปิดชั่วคราวและกักตัวคนงาน การระบาดระลอกนี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมที่ 199,264 คน เสียชีวิต 1,466 คน ผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 80% และการเสียชีวิต 90% เกิดขึ้นหลังเดือน เม.ย. นับถึงขณะนี้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบแล้วมีเพียง 1.6 ล้านคนเท่านั้นจากประชากรกว่า 66 ล้านคน
การจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม
รัฐบาลไทยพยายามสกัดการแพร่ระบาดโดยใช้ นโยบายการจัดการโควิด 19 ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม (บับเบิลแอนด์ซีล) สำหรับโรงงานที่คนงานติดเชื้อ 10% ผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วจะถูกส่งตัวไปรักษา ที่เหลือเก็บตัวอยู่ในโรงงานเป็นเวลา 28 วัน
คนงานในโรงงานและคนงานในแคมป์งานก่อสร้างที่หลายคนเป็นแรงงานต่างชาติค่าจ้างต่ำ ไม่สามารถออกไปนอกที่ทำงานได้ แม้ว่าไม่ติดเชื้อก็ตาม นโยบายนี้แตกต่างจากสถานประกอบการอื่นที่มีการติดเชื้อโควิด
สุธาสินี แก้วเหล็กไหลผู้ประสานงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (เอ็มดับเบิลยูอาร์เอ็น) กล่าวว่า นโยบายนี้ไม่เหมาะสม ทางการควรตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น บริษัทก็ควรปรับปรุงสภาพการทำงาน เพิ่มพื้นที่ว่างให้คนงานรักษาระยะห่างได้ และเพิ่มการฝึกอบรมคนงานเพื่อให้คนที่แข็งแรงไม่ติดเชื้อและไปไหนมาไหนได้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมให้เวลาโรงงานปรับปรุงสภาพการทำงานจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. รวมถึงจัดให้คนงานสวมหน้ากากและตรวจวัดอุณหภูมิ
ทวีทรัพย์ ศิริประภาสิริ นายแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข้อดีของนโยบายบับเบิลแอนด์ซีลว่า เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจดำเนินการต่อพร้อมกับจำกัดวงการระบาด
“คนที่มีอาการก็ส่งไปรักษา คนอื่นก็อยู่ในบับเบิล ถ้าจะแพร่เชื้อก็แพร่กันอยู่ในนั้นไม่ออกไปข้างนอก วิธีนี้ช่วยจำกัดการระบาดและเปิดให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้”
ด้านเว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานวานนี้ (14 มิ.ย.) ตั้งคำถามว่า การเปิดท่องเที่ยวอีกครั้ังและมาตรการกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นจะมากพอกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิดหรือไม่
รายงานข่าวระบุว่า ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองอีกช่วงหนึ่ง หลังจากปีก่อนจีดีพีหดตัวลง 6.1% เดือนนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่งคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะซบเซา ไม่เท่าเทียมกัน และความไม่แน่นอนสูง ปีนี้จีดีพีไทยน่าจะโต 2.6%
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยออกแถลงการณ์ร่วม คาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 0.5%-2%
หลายวันก่อนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอไปจนถึงปี 2566จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่า น่าจะฟื้นในไตรมาส 3 ของปี 2565
กรุงเทพฯ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเจอโควิดระบาดหลายคลัสเตอร์จนเสียหายหนัก ส่วนจังหวัดอื่นต้องปิดโรงงานเพื่อสกัดการติดเชื้อ สร้างความเสียหายให้กับภาคการผลิตที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ ไทยฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวที่จะเปิดเกาะภูเก็ตในวันที่ 1 ก.ค.นี้รับนักเดินทางฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว และจะใช้นโยบายนี้กับจังหวัดอื่นด้วย แต่ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตือนว่า การท่องเที่ยวหลังโควิดอาจไม่เหมือนกับเมื่อก่อน
“การจัดการโรคระบาดที่ต่ำกว่ามาตรฐานของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อและกระจายวัคซีน จะชะลอการกลับมาเป็นปกติ นำไปสู่ต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่แก้ไขไม่ได้สำหรับประเทศไทย” นักวิชาการรายนี้กล่าว
ส่วนการกู้เงินระลอกล่าสุด รวมถึงมาตรการกระตุ้นชุดก่อนที่หวังเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ภวิดากล่าวว่า มาตรการกระตุ้นไปไม่ถึงเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินสดเพื่อการอยู่รอด
“สินเชื่อเอสเอ็มอียังคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคาร ในเมื่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในห้องไอซียู คงยากที่พวกเขาจะโน้มน้าวให้ธนาคารเห็นศักยภาพทางการเงินของเอสเอ็มอี นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่เอสเอ็มอีเข้าถึงทุนได้ยากยิ่งขึ้น”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 มิถุนายน 2564