อย่าหาทำ! "WHO" เตือนทั่วโลกฉีด "วัคซีนผสมสูตร" อันตราย!
"WHO" เรียกร้องประเทศร่ำรวยช่วยบริจาควัคซีนโควิดพร้อมเตือนให้หลีกเลี่ยงการฉีด "วัคซีนผสมสูตร" ขณะที่หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุ จะเป็นการก่อแนวโน้มที่อันตราย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการฉีดวัคซีนผสมสูตร
นายแพทย์เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยบริจาควัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศยากจน แทนที่จะเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster) ซึ่งยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การฉีดเข็มที่ 3 คือสิ่งจำเป็นในเวลานี้
ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนครบโดสจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านการอาการป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและถึงแก่ชีวิตให้แก่ตัวผู้รับไปได้อีกนาน เพราะฉะนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้ต้องเป็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดแม้แต่เข็มเดียวมากกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงของการแถลงข่าวรายวันเมื่อวันจันทร์(12ก.ค.) ที่นครเจนีวา องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับมาพุ่งสูงอีกครั้งหลังลดลงมาตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักของสถานการณ์ที่เลวร้ายลงคือ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่ากลายพันธุ์สายพันธ์เดลตา ที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย
ขณะที่นายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการงานด้านสาธารณสุขฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นในภูมิภาคที่มีการฉีดวัคซีนระดับหนึ่ง เช่น การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมในสนามแบบไม่เต็มพื้นที่ เป็นตัวอย่างของความยากลำบากสำหรับรัฐบาลที่ต้องดำเนินมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดที่เหมาะสม
ขณะที่นางสมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของดับเบิลยูเอชโอ แนะนำว่า ไม่ควรมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผสมสูตรให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการก่อแนวโน้มที่เป็นอันตราย ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการดำเนินการดังกล่าว
“มีคนกำลังคิดเรื่องฉีดวัคซีนผสม เราเองก็ได้รับการสอบถามเข้ามามากจากคนที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว และคิดจะฉีดเข็ม 2 เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่ง นี่เป็นกระแสที่ค่อนข้างอันตราย เรายังไม่มีข้อมูลและหลักฐานเรื่องการฉีดวัคซีนต่างสูตร ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ซึ่งก็ต้องคอยผล อาจเป็นวิธีที่ดีมากก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ เรามีแค่ข้อมูลฉีดเข็มแรกเป็นออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยไฟเซอร์เท่านั้น”
นางสวามินาธาน ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในบางประเทศอาจจะมีความวุ่นวายมากขึ้น หากประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่ และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 กรกฏาคม 2564