พิษล็อกดาวน์ฉุดดัชนีเชื่อมั่นส.ค. ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ม.หอการค้าฯชี้ล็อกดาวน์ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม ลดลงจากระดับ 40.9 เป็น 39.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุผู้บริโภคกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบที่4 และมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนส.ค. 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดโดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. เพื่อควบคุมการระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจาก ศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นมา
ทั้งนี้การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.9 เป็น 39.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 275 เดือนหรือ 22 ปี 11 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2541 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100
แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 26.6 มาอยู่ที่ 24.3 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 270 เดือนหรือ 22 ปี 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2542 เป็นต้นมา แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 47.6 มาอยู่ที่ระดับ 46.7 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 275 เดือนหรือ 22 ปี 11 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค. 2541 เป็นต้นมา และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจาก ศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นมา เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเริ่มปรับตัวลดลงไม่มากเหมือนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
รวมทั้งต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือไม่ รัฐบาลจะมีการประกาศผ่อนคลาย Lockdown เพิ่มเติมหรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวดีขึ้นจากระดับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาที่ระดับ 0 ถึง -2% ปรับตัวดีขึ้นอยู่ในระดับ 0 ถึง 2% ได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตามในเดือนต.ค.นี้หอการค้าไทยจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กันยายน 2564