ตลาดเรียนออนไลน์เวียดนามโต 3 พันล้านดอลล์
ตลาดเรียนออนไลน์เวียดนามโต 3 พันล้านดอลล์ ขณะเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการศึกษาทางออนไลน์เป็น 90% สำหรับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย 80% สำหรับการเรียนระดับมัธยม และการอบรมวิชาชีพ ภายในปี 2573
เวบไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19ในเวียดนาม ที่ขณะนี้มีตัวแปรใหม่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก แถมเป็นการแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วขึ้น แต่กลับทำความต้องการเรียนหนังสือทางออนไลน์กับสถาบันการศึกษาชื่อดังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาทะยานถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
การศึกษาทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นการช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บรรดาแรงงานในเวียดนามที่ในอนาคตอันใกล้ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต้องการผู้มีทักษะด้านดิจิทัลและตลาดโลกาภิวัตน์มากขึ้น
ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาของเวียดนามคือ เอฟพีที ผู้ให้บริการด้านไอทีในเวียดนาม โดยแอพพลิเคชั่นของเอฟพีทีใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)ในการส่งประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน และจัดส่งเนื้อหาปริมาณมาก
ครอบคลุมถึงวิดีโอกว่า 2,000 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับวิชาคณิตศาสตร์เพียงวิชาเดียว ซึ่งเอฟพีที ระบุว่า นักเรียนสามารถเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นได้เร็วกว่าการนั่งเรียนในชั้นเรียนแบบตัวต่อตัวกับครูในรูปแบบดั้งเดิมประมาณ 30% ถึง 50%
นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นยังสามารถสั่งการบ้านและทดสอบเพื่อวัดเกรดได้โดยอัตโนมัติ ช่วยลดชั่วโมงการทำงานของบรรดาครูผู้สอน
อีกทั้งแอพพลิเคชั่นยังมีบัญชีประมาณ 3 ล้านบัญชีทั่วโรงเรียน 40,000 แห่ง และบริษัทยังเปิดบริการเรียนทางออนไลน์สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแบบเป็นกลุ่ม รวมทั้งฟูนิกซ์ แพล็ทฟอร์มออนไลน์ที่มุ่งเน้นให้ความรู้แก่มืออาชีพซึ่งสนใจที่จะทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ขณะที่บรรดาผู้เล่นต่างประเทศก็ขยายธุรกิจเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามเช่นกัน เริ่มจาก Gakken Holdings ของญี่ปุ่นที่เมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งจะประกาศเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทด้านการศึกษาเวียดนามชื่อ “คิดดิฮับ เอดูเคชัน เทคโนโลยี” ซึ่งบริหารเวบไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเล็ก
Gakken ต้องการยกระดับบทบาทการให้บริการทางออนไลน์ของคิดดิฮับให้กระตุ้นความสนใจในระบบการศึกษาที่เน้นพฤติกรรมของผู้เรียนถือเป็นวิธีการที่เน้นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
บริษัทวางแผนที่จะส่งอาจารย์ชุดแรกไปโรงเรียนอนุบาลเอกชนเดือนละสองครั้งเพื่อสร้างการยอมรับแบรนด์ในเวียดนาม
Gakken มองหาลู่ทางที่จะให้บริการนักเรียนระดับอนุบาล 2,000 คน และให้บริการดูแลเด็กอื่นๆสำหรับรายได้รายปี 1,000 ล้านเยน (8.78 ล้านดอลลาร์) ภายในปี 2568 และท้ายที่สุดมีแผนจะเปิดให้บริการสอนเป็นรายบุคคลด้วย
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เวียดนามคึกคักจากการหลั่งไหลเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะจากบริษัทต่างชาติที่มองหาแรงงานราคาถูก และการผ่อนปรนทางการค้าท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน
แต่เวียดนามยังคงมีความเสี่ยงที่จะถลำเข้าไปในสิ่งที่เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นการต่อสู้ของประเทศใดประเทศหนึ่งให้ก้าวข้ามผ่านระดับของรายได้ที่แน่นอน นอกเสียจากว่าจะสามารถสนับสนุนผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นได้
ภายใต้แรงกดดันต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้น แรงงานในเวียดนามจะได้รับการสนับสนุนให้ติดอาวุธทางปัญญารวมทั้งฝึกอบรมให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศเป้าหมายเพื่อทำให้การศึกษาทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 90% สำหรับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย และ 80% สำหรับการเรียนระดับมัธยม และการอบรมวิชาชีพ ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ความสนใจเข้ารับการศึกษาในกลุ่มสาธารณชนทั่วไปก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละปีเพิ่มขึ้น 2.3 เท่าในรอบ 10 ปีเป็นประมาณ 7 ล้านด่อง (304 ดอลลาร์)ต่อนักเรียน 1 คน ในปี 2563
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติทั่วไปของเวียดนาม ระบุว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากขึ้นไปเรียนตามโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนเข้าเรียนเยอะ และทำกิจกรรมต่างๆ นอกหลักสูตร โดยเฉพาะในเมืองต่างๆ
นอกจากให้บริการด้านการศึกษาทางออนไลน์เหมือนเอฟทีพีแล้ว บรรดาสตาร์ทอัพจำนวนมากยังอาศัยประโยชน์ในช่วงที่ระบบการศึกษาเติบโตเต็มที่เร่งระดมทุน อย่างกรณีอีเควส เอดูเคชัน กรุ๊ป(EQuest Education Group) ผู้ให้บริการด้านการศึกษาเอกชนได้รับเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์จาก KKR บริษัทไพรเวท อีควิตี้เมื่อตอนปลายเดือนพ.ค.
“เหงียน ก๊วก ทวน”ประธานคณะเจ้าหน้าที่(ซีอีโอ)อีเควส เปิดเผยว่า บริษัทเน้นให้บริการด้านการศึกษาด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกมองว่ามีความสำคัญต่อแรงงานที่ต้องไปแข่งขันกับแรงงานชาติอื่นในตลาดโลก และบริษัทตั้งเป้าที่จะเสนอการศึกษาคุณภาพสูงในราคาที่คนทั่วไปสามารถจ่ายได้
ขณะที่ Clevai แพลทฟอร์มที่เน้นให้บริการด้านการศึกษาผ่านเทคโนโลยีเอไอ ระดมทุนได้ 2.1 ล้านดอลลาร์ จากกลุ่มนักลงทุนชาวสิงคโปร์ และกองทุนเพื่อการลงทุนสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการชาวเวียดนามบางแห่งก็รุกเข้าไปเปิดธุรกิจด้านการศึกษาในสหรัฐ เอลซา แอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงด้านสำเนียงพูดภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ก็สามารถระดมทุนได้ 15 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ รวมถึงกองทุนเพื่อการลงทุนที่เป็นหน่วยงานเครือของกูเกิล ทุกวันนี้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีผู้ใช้ประมาณ 13 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตัวของธุรกิจการศึกษาทางออนไลน์ในเวียดนาม โดยการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตยังคงมีอย่างจำกัดในพื้นที่ชนบทของประเทศ ประกอบกับเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจึงกำหนดกฏระเบียบเพื่อควบคุมบริษัทให้บริการด้านศึกษาของเอกชนได้ตลอดเวลา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 ธันวาคม 2564