"จีน" เดินเกมจีบบริษัทต่างชาติ อัพเกรดอุตฯ "เซมิคอนดักเตอร์"
“เซมิคอนดักเตอร์” ยังคงเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สหรัฐอเมริกาใช้ต่อรองอำนาจกับ “จีน” ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนเองก็มีความต้องการอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์สูงมาก
รัฐบาลจีนจึงต้องเร่งสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองขึ้น เพื่อเอาชนะการปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐ และตอบสนองความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดจีน
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า รัฐบาลจีนมีแผนจัดตั้ง “หน่วยงานพิเศษ” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จีนกับบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนให้สามารถพึ่งตนเองได้
หน่วยงานนี้จะตั้งขึ้นในนาม “คณะกรรมการปฏิบัติงานเซมิคอนดักเตอร์ข้ามพรมแดน” อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีน มีอำนาจกำกับดูแลการค้าการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ และจะทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงสถาบันวิจัย อย่างมหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เพื่อวิจัยและพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะแรงงาน
หน่วยงานนี้มีแนวทางส่งเสริม “ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตชิป ครอบคลุมตั้งแต่การสนับสนุนบริษัทต่างชาติในการเข้ามาตั้งศูนย์พัฒนาหรือฐานการผลิตในจีน โดยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่และการจัดหาเงินทุน
รวมถึงอาจให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทจีน ที่ต้องการซื้อกิจการหรือสินทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในต่างประเทศ
โดยขณะนี้มีบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของจีนหลายราย ที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมกับหน่วยงานนี้ อย่าง “เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป” (SMIC) ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เบอร์ 1 ของจีน และ “แอดวานซด์ ไมโคร” (AMEC) บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือผลิตชิปรายใหญ่
รวมถึง “เสี่ยวหมี่” (Xiaomi) ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำ ที่กำลังเริ่มโปรเจ็กต์พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง ก็คาดว่าจะเข้าร่วมกับหน่วยงานพิเศษนี้เช่นกัน
ขณะที่บริษัทต่างชาติหลายรายถูกจับตาว่าเป็นเป้าหมายของจีนในการแสวงหาความร่วมมือ โดยเฉพาะ “อินเทล” ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก ที่มีผู้ผลิตมือถือและคอมพิวเตอร์ของจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่สัดส่วนถึง 26% ในปี 2020 และ “เอเอ็มดี” ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐที่มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่เช่นกัน
นอกจากนี้ “อินฟินีออน เทคโนโลยีส์” บริษัทผู้ผลิตชิปเยอรมัน และ “เอเอสเอ็มแอล” (ASML) เจ้าของเครื่องมือผลิตชิปชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ ก็อยู่ในกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจีนสนใจ แต่ขณะนี้ยังคงไม่มีบริษัทใดเปิดเผยว่าจะร่วมมือกับหน่วยงานจีน
ทั้งนี้ หน่วยงานพิเศษของจีนจะเริ่มดำเนินงานภายในครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนที่ต้องการสร้างซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ที่สามารถพึ่งตนเองได้ให้สำเร็จภายในปี 2025 เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม จีนอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง เนื่องจากหลายประเทศมีนโยบายดึงบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ข้ามชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเช่นกัน เช่น กรณี “ญี่ปุ่น” ที่สามารถดึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ศักยภาพสูงอย่าง “ทีเอสเอ็มซี” (TSMC) ของไต้หวันมาตั้งโรงงานในประเทศได้สำเร็จ ขณะที่ “โกลบอลเฟาน์ดรีส์” ผู้ผลิตชิปสหรัฐก็ได้เข้ามาสร้างโรงงานมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน
“สิงคโปร์” เมื่อเดือน มิ.ย. 2021ที่ผ่านมา
ท่าทีและแรงกดดันของสหรัฐยังทำให้หลายชาติกังวลต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไปยังจีน ดังนั้น การดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมมือพัฒนาซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศจึงอาจไม่ง่ายดังที่จีนคาดหวัง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565