10 สาระสำคัญน่าสนใจ ในแผนพัฒนา "ประชากรไทย" ระยะยาว
"ประชากร" ถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมให้ก้าวหน้า แม้แต่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัดหากมีประชากรที่มีคุณภาพ ก็สามารถที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกได้
ทุกประเทศจึงมีแผนการพัฒนาประชากรของประเทศเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถที่จะรับภาระหน้าที่และมีบทบาทในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับประเทศไทยก็มีแผนพัฒนาประชากรในระยะยาวครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2580 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะมีมติเห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเมื่อเร็วๆนี้
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 10 สาระสำคัญที่น่าสนใจของ แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580) ที่จะเป็นแผนสำคัญในการพัฒนาประชากรของประเทศไทย ดังนี้
(1)ประชากรไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปี 2572 โดยประชากรรวมของประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 14.3% แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเป็น 29.85% หรือประชากรในวัยเด็กจะน้อยกว่าคนแก่เกือบเท่าตัว
(2)ประเทศไทยจะเผชิญการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุกๆ 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580 ทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติในการทดแทนแรงงาน
(3)แรงงานสูงอายุของไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทน หรือถูกเลิกจ้างเนื่องจากมีระดับการศึกษาต่ำ และขาดความรู้ในเรื่องทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต รวมทั้งผู้สูงอายุหรือเกือบจะสูงวัยมีข้อจำกัดในการปรับตัวด้านสมรรถนะทางเทคโนโลยี ดังนั้นความท้าทายในการยกระดับ และเพิ่มทักษะให้กับแรงงานสูงอายุให้มีทักษะใหม่ๆจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และอัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น
(4)ประชากรเจเนอเรชั่นวายจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ประชากรเจเนอเรชั่นวาย(เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2539) และหลังจากนั้นจะเป็นกำลังแรงงานหลักในอนาคต และอาจผลักดันคุณค่าใหม่ ๆ เช่น ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน ความเท่าเทียมทางเพศ ให้เกิดได้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
(5)การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha (เกิดในช่วง พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป) อย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น
แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม
(6)ประชากรมีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบจากการเป็นเมือง อาทิ ความแออัด และความครอบคลุมของบริการ
(7)ในอนาคตสัดส่วนครอบครัวคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร หรือครัวเรือนคนเดียวจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย เช่น ครอบครัวเพศเดียวกัน2 ครอบครัวแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามรุ่น เป็นต้น
(8)แรงงานต่างด้าวในไทยอาจลดลง การเป็นประชาคมอาเซียนและการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรียิ่งขึ้น และเกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น
มีแนวโน้มที่แรงงานต่างด้าวในไทยจะกลับประเทศและเกิดการแย่งชิงแรงงานทักษะสูง (Talent war) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการทำงานแบบออนไลน์มากขึ้นในทุกสายงาน ซึ่งเอื้อต่อการจ้างงานโดยไม่ต้องย้ายประเทศ
(9)กรอบการพัฒนาประชากรไทยระยะยาวให้ความสำคัญกับคุณภาพหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการแก่และตายอย่างมีคุณภาพ โดยต้องมีวาระการพัฒนาต้องคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
โดยบางมาตรการต้องจัดทำเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาในบางประเด็น จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเร่งการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ รวมทั้งระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางงบประมาณสูงสุด
นอกจากนี้อัตราการสูงวัยและบริบทการพัฒนามีความแตกต่างกันตามพื้นที่ จึงควรพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นเพื่อให้จัดการในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งการส่งเสริมระบบสวัสดิการร่วมจ่าย เพื่อลดภาระการคลังภาครัฐในอนาคตและ
(10)กระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาประชากรของภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงจากประเด็นด้านประชากรที่เปลี่ยนไปของภาครัฐ เช่น
10.1 อุตสาหกรรมในอนาคตที่มีความก้าวหน้าและเพิ่มมูลค่าได้สูงมิได้อยู่บนฐานการใช้แรงงานทักษะจำนวนมาก
10.2 ระบบการเรียนรู้แบบใหม่ที่เหมาะกับคนทุกเจเนอเรชั่นด้วยบริบทและทุนทางเทคโนโลยีที่ต่างกัน
10.3 รัฐต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารจัดการและดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้เข้ามาทำงานร่วมกับคนไทย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
10.4 รัฐต้องพัฒนาสมรรถนะคนทุกระดับให้มีความเข้าใจ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถติดตาม จัดการกับภัยคุกคามในโลกดิจิทัลได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565