ไทยขาดแรงงานต่างด้าว 5 แสนคน หอการค้าไทย ยื่นข้อเสนอรัฐเร่งแก้ไข

หอการค้า สภาหอการค้า ยื่น 6 ข้อเสนอแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน หลังเปิดประเทศความต้องการแรงงานพุ่ง 5 แสนคน ล่าสุด ครม.เห็นชอบแผนแล้ว พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาทันที เร่งผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนแรงงานด่วน
 
วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมไปถึงภาคแรงงานซึ่งผู้ประกอบการทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ
 
 
อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมมากกว่า 5 แสนคน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต่อกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยมีประเด็นข้อเสนอ ดังนี้
 
(1)เร่งรัดให้มีการนำทรัพยากรแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในประเทศ มาขึ้นทะเบียนแรงงานใหม่ในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเข้มข้น และเพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน
 
(2)กำหนดแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU สัญชาติเมียนมาชุดใหม่จากประเทศ ต้นทางอย่างเร่งด่วน
 
(3)กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานต่างด้าวแต่ละกลุ่มตามมติคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบของนายจ้างรายเดิม
 
(4)จัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าว MOU เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมแรงงานต่างด้าว
 
(5)ประสานงานประเทศต้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาและขยายระยะเวลาการต่ออายุ Passport & Visa ของแรงงานต่างด้าว MOU ที่ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยการนำบัตรสีชมพูของแรงงานต่างด้าวมาเป็นหลักฐานใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนแทน Passport & Visa ของแรงงานต่างด้าว MOU
 
(6)ประสานงานสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้ระบบออนไลน์การรับแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วันให้สามารถใช้ได้จริงครอบคลุมทุกพื้นที่จังหวัด พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สตม. (Hot Line) เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถใช้ระบบออนไลน์แจ้งรายงานตัว 90 วัน
 
นายพจน์กล่าวอีกว่า ข้อเสนอดังกล่าว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมหารือและขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบเรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน จำนวน 15 ฉบับ แล้ว
 
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน ได้วางแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ โดยจะแถลงรายละเอียดแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ดังนั้น สมาชิกหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้า และผู้ประกอบกิจการทั่วประเทศ ควรนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนตามระบบ แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อให้มีแรงงานที่เพียงพอต่ออุตสาหกรรม
 
 
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น สาระสำคัญ ดังนี้
 
(1)เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ยังมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ประสงค์จะทำงานอย่างถูกต้อง ให้สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66 โดยหากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68
 
โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้สำรวจข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการพบว่า ยังมีความต้องการแรงงานประมาณไม่น้อยกว่า 120,000 คน
 
(2)เห็นชอบให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่มีสถานะถูกต้อง ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้วและประสงค์ทำงานต่อไป ประมาณ 1,690,000 คน สามารถอยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มมติ ครม. 29 ธันวาคม 63, กลุ่มมติ ครม. 13 กรกฎาคม 64 และกลุ่มมติ ครม. 28 กันยายน 64
 
โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68 โดยครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการตรวจลงตรา ที่เดิมสิ้นสุดวันที่ 1 สิงหาคม 65 ไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66
 
และกลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 65 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 68
 
ทั้งนี้ การดำเนินการของคนทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มดำเนินการได้หลังจากประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้แล้ว
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 กรกฏาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)