เคาะรูปแบบทะเบียน "รถป้ายแดง" แบบใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม
เปิดรายละเอียดรูปแบบทะเบียน "รถยนต์ป้ายแดง" แบบใหม่ หลังครม. เห็นชอบกฎกระทรวงปรับปรุงกฎหมายเดิมเพื่อควบคุม ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษรถป้ายแดง ไปดูกันว่า กฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ ป้ายทะเบียนรถใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด มีมติเห็นชอบ แนวทางการควบคุม ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ หรือ "รถป้ายแดง" ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยไม่จดทะเบียน โดยออกเป็นร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม (ป้ายแดง) และกำหนดแบบใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถ และลักษณะป้ายแดง
โดยกำหนดอายุของใบอนุญาตและเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรายงานการใช้ป้ายแดง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับรายละเอียดของข้อกฎหมายมีการกำหนดลักษณะของรถยนต์ที่จะติดป้ายแดง ต้องปฏิบัติดังนี้
(1)ลักษณะเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ปรับขนาดแผ่นป้ายให้มีขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 30 ซม. (เดิม 34 ซม.)
(2)แผ่นป้ายแบบใหม่จะแบ่งเป็น 3 บรรทัด จากเดิม 2 บรรทัด ประกอบด้วย
* บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวเลขประจำหมวดตัวที่1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก (เดิมประกอบด้วยตัวอักษรบอกหมวด ขีดตามทางยาวและตามด้วยตัวเลข)
* บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรบอกชื่อจังหวัด เว้นแต่กรณี อำเภอเบตง จังหวัดยะลาให้ใช้คำว่า เบตง
* บรรทัดที่ 3 เป็นตัวอักษร "เพื่อขายหรือซ่อม"
(3)ปรับปรุงใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและลักษณะเครื่องหมายพิเศษ ให้เป็นปัจจุบัน และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และกำหนดให้ในการออกใบอนุญาตให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษหนึ่งคู่ ซึ่งมีหมายเลขเดียวกันและสมุดคู่มือประจำรถ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
* แบบใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม มีการเพิ่มข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลและอีเมลของผู้ได้ใบอนุญาต ระบุวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งตรากรมการขนส่งทางบกเป็นพื้นหลังใบอนุญาต
* สมุดคู่มือประจำรถ เพิ่มคิวอาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจสอบว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกสมุดคู่มือประจำรถนั้นๆ
(4)กำหนดเงื่อนไขการใช้และการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษของผู้ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติ ดังนี้
* ติดเครื่องหมายพิเศษ(ป้ายแดง) ที่ด้านหน้าและท้ายรถด้านละ 1 แผ่นให้สามารถมองเห็นชัดเจน
* จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการหมุนเวียนไปใช้กับคันอื่น ตามที่กรมขนส่งทางบกกำหนด โดยหากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนายทะเบียนมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
(5)กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และป้ายแดงให้ชัดเจน (จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้) โดยกำหนดทั้ง 3 เรื่อง มีอายุ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต โดยการขอใบอนุญาต กรณีใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ ให้ยื่นคำขอพร้อมหลักฐานล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือน ก่อนวันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุด
(6)กำหนดเหตุที่ใบอนุญาตสิ้นสุดตามกรณี ดังต่อไปนี้
* ใบอนุญาตครบ 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต
* ผู้ได้รับอนุญาตตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
* ผู้ได้รับอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
* กรมขนส่งทางบกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นสุด ผู้ได้รับอนุญาตต้องคืนใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษและสมุดคู่มือประจำรถภายใน 15 วันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด
7.กำหนดเงื่อนไขการขอใบแทน ใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษ กรณีสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันทราบการสูญหายหรือชำรุด
8.บทเฉพาะการ กำหนดให้บรรดาใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายที่จัดทำไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ซึ่งนายทะเบียนจะออกให้หรือได้ออกให้แล้วแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม รายงานว่า การยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้น เพื่อเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงเดิมที่มีการใช้บังคับมานานแล้ว เช่น การไม่กำหนดอายุของใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ทำให้ทางราชการไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ได้รับใบอนุญาตยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงมีผู้ประกอบการจำนวนมากเลิกประกอบกิจการ
แต่กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติให้มาแจ้งเลิกกิจการกับนายทะเบียน เป็นเหตุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ยอมคืนสมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายพิเศษกับทางราชการ ซึ่งเป็นช่องทางให้นำสมุดคู่มือประจำรถ และเครื่องหมายพิเศษไปใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสาเหตุหนึ่งของการหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนรถหรือใช้รถโดยไม่เสียภาษีประจำปี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
รวมถึงอาจเป็นช่องทางนำรถดังกล่าวไปใช้ในการกระทำผิดซึ่งยากแก่การตรวจสอบสืบหาเจ้าของรถ ก่อให้เกิดปัญหาความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล จึงเพิ่มเติมหลักการให้การขอและการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย
สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากผ่านการเห็นชอบจากครม.แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคม รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 19 กรกฏาคม 2565