ททท.ลุยแผนปี 66 ฝ่าพายุเศรษฐกิจ! ดันเป้ารายได้ทัวริสต์ต่างชาติติด TOP 5 โลก
"การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" ได้จัดแถลง "ทิศทางการส่งเสริมการตลาดปี 2566" เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้เตรียมตัวทำตลาดล่วงหน้า ฝ่า “พายุเศรษฐกิจ” ทั้ง "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" "เงินเฟ้อ” และ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ดันต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวพุ่ง!
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ททท.ตั้งเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวปี 2566 จากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศรวม 1.25-2.38 ล้านล้านบาท มีค่ากลางที่เป็นไปได้สูงสุดคือ 1.73 ล้านล้านบาท แต่ถ้าสร้างรายได้รวมสูงสุดที่ 2.38 ล้านล้านบาท จะคิดเป็นการฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ปูทางสู่การฟื้นรายได้ไม่น้อยกว่า 100% ตามเป้าหมายปี 2567
ทั้งนี้ ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2566 ผลักดันอันดับ “ประเทศไทย” ให้เป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก! เพื่อรักษาตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้ หลังผ่อนคลายมาตรการ “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวก่อนประเทศอื่นๆ จากเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 4 ของโลก
จากการวางเป้าหมายรายได้ “ตลาดต่างประเทศ” ปีหน้าที่ 5.8 แสนล้านบาท ถึง 1.5 ล้านล้านบาท มีค่ากลางเป็นไปได้สูงสุดคือ 9.7 แสนล้านบาท จากเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 11-30 ล้านคน มีค่ากลางฯที่ 18 ล้านคน โดยไม่รอความหวังจากตลาด “นักท่องเที่ยวจีน”
ด้วยการปรับกลยุทธ์ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทุกภูมิภาค กระตุ้นให้มา “เที่ยวไทยได้ตลอดทั้งปี” บุกไปยังเมืองใหม่ๆ ของตลาดเดิม เช่น ตอนกลางของสหรัฐ ควบคู่กับการบุกตลาดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และโอมาน
รวมทั้งจับเทรนด์ความต้องการของนักท่องเที่ยว สร้างกระแสให้มา “Reunion” กลับมาพบปะสังสรรค์กันใหม่ที่ประเทศไทย และสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความหมาย หรือ “Meaningful Travel” หลังจากต้องหยุดเดินทางเพราะวิกฤติโควิด-19 มากว่า 2 ปี ตอกย้ำแคมเปญปีท่องเที่ยวไทย “Visit Thailand Year 2022-2023 : Amazing New Chapters”
“อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลจีนอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวนอกประเทศ ไทยก็มีโอกาสได้นักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคน”
ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณการที่ 50,000-54,000 บาท/คน/ทริป ลดลงจากไตรมาส 1 ของปี 2565 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 77,000 บาท/คน/ทริป คาดว่าเกิดจากความกังวลเรื่อง “ภาวะเงินเฟ้อ” ทั่วโลก! ส่งผลต่อกำลังซื้อและจิตวิทยาการเดินทาง นักท่องเที่ยวประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่สถานการณ์สู้รบระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ซึ่งยืดเยื้อมายาวนาน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ซ้ำเติมเงินเฟ้อเข้าไปอีก ถือเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ของปี 2566
แม้จะเกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน เกิดอานิสงส์ทำให้ “เงินบาทอ่อนค่า” จากระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อสูงขึ้น เที่ยวไทยนานขึ้น
“สำหรับความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตกนั้น ประเมินว่าไม่ได้กระทบทั่วโลก ทาง ททท.คาดหวังว่าค่าเงินบาทที่อ่อนตัวจะชดเชยดีมานด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องชะลอการเดินทางในช่วงโควิด-19 ระบาด นำเงินที่เก็บไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มาใช้จ่ายท่องเที่ยวเพื่อแลกกับความพึงพอใจ ททท.จึงต้องมุ่งนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวที่พิเศษ ผลักดันให้เกิดความต้องการเดินทาง ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน”
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 ก.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยสะสมประมาณ 2.7 ล้านคน คาดว่าตลอดปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนแน่ แต่รายได้รวมคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากปัจจัยเงินเฟ้อทำให้คนประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้เดินทางเข้าไทยมากขึ้น เช่น มาเลเซีย มาพำนักในไทยแค่ 2 วัน ต่างจากตลาดระยะไกลที่พำนัก 10-14 วัน ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
“ตลอดปี 2565 น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไปถึงเป้าหมายในแง่จำนวน แต่รายได้รวมไปไม่ถึงเป้า 1.5 ล้านล้านบาท”
ยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านตลาด “คนไทยเที่ยวในประเทศ” ททท.วางเป้าหมายปี 2566 ไว้ที่ 117-135 ล้านคน-ครั้ง ค่ากลางเป็นไปได้สูงสุดอยู่ที่ 130 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 6.7-8.8 แสนล้านบาท ค่ากลางฯอยู่ที่ 7.6 แสนล้านบาท ประมาณการนักท่องเที่ยวไทยใช้จ่าย 4,200-4,800 บาท/คน/ทริป
ทั้งนี้ ททท.จะกระตุ้นคนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกวัน ผ่านแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน” ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค กำหนดธีมการท่องเที่ยวในแต่ละวัน รองรับความต้องการของ “นักท่องเที่ยวทุกสาย” เช่น สายมู สายกิน และสายช้อป เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และรักษาจำนวนวันพักด้วยเรื่องราวสร้างสรรค์และกิจกรรมท่องเที่ยวน่าสนใจ
“ในเมื่อเราเปิดประเทศได้ คนไทยก็ออกไปเที่ยวต่างประเทศได้เช่นกัน จึงต้องสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พร้อมมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวได้ทุกวัน”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 กรกฏาคม 2565