นับถอยหลังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต.ค.65 "หอการค้า" คาดหนุน GDP 0.2%
กระทรวงแรงงานเร่งเสนอ ครม. ไฟเขียวปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องการให้มีผลบังคับใช้ทันทีในเดือน ต.ค.2565 ด้านหอการค้าหนุน ชี้ทำGDP โต 0.2% ขณะที่เอกชนเผย กระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการตั้งแต่ 5-20%
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จะนำเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือนก.ย.ให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2565 จากเดิมจะให้มีผลบังคับต้นปี 2566 เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้เร็วขึ้น เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวไปแล้ว และขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“เดิมวางเอาไว้ให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลต้นปี 2566 แต่ครั้งนี้เวลา 1 ปี กว่าที่ผ่านมาไม่ได้ปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนในช่วงโควิด-19 รัฐบาลทำได้แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง วันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างเห็นดีเห็นงาม เพราะต้องการให้ลูกจ้างอยู่กับเขาต่อ”
ทั้งนี้ มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งขณะนี้ประชุมครบทุกจังหวัดแล้วและได้ตัวเลขมาหมดแล้ว
โดยจะต้องทำให้จบภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสม ซึ่งข้อเท็จจริงตัวเลขแต่ละจังหวัดต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง กำลังปรับขึ้นให้อยู่โดยจะทำทั้งหมด 12 ช่วง
นอกจากนี้ ตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดเพิ่มขึ้น 5-8 % มีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ โดยเอาจีดีพีของแต่ละจังหวัดมาบวกลบคูณหารจะสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมแต่ละจังหวัดได้ในปริมาณเท่านี้
สำหรับการขึ้นค่าแรงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ค่าของชีพของแต่ละจังหวัด ซึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พื้นที่จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องขึ้นก่อนและสูงขึ้นไป
“มองว่าเป็นเรื่องช่วงเวลามากกว่า ถ้าคิดว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาทตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว ขอร้องอย่าเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศชาติ เราไม่สามารถเอาเรื่องค่าแรงเป็นเรื่องการเมือง แต่เราปรับตามเวลาที่เหมาะสม”
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% เชื่อว่าภาคเอกชนเองเห็นด้วยที่จะให้ปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งปัจจุบันจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้างแล้ว
ทั้งนี้คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานกลาง หรือ คณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละพื้นที่ ซึ่งกรอบที่คาดการณ์กันว่าจะปรับประมาณ 5-8% นั้นน่าจะสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเชื่อว่าหากปรับค่าแรงขึ้นแรงงานที่จะได้ 5-8 ล้านคน จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงบวก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2% โดยมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเดือนละ1,500-2,400 ล้านบาทหรือปีละกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท
ในขณะที่บางธุรกิจอาจยังได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนสูง และกำลังซื้อที่ยังไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้จำนวนแรงงานสูง เช่น ธุรกิจในภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป เช่น การปรับลดคนงาน การปรับราคาสินค้าหรือค่าบริการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับผลกำไรที่น้อยลง แต่หากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถเริ่มได้ในต้นปีหน้า ก็อาจทำให้ประชาชนสามารถยอมรับกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นได้
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการตั้งแต่ 5-20% ขึ้นอยู่กับใช้แรงงานมากน้อยแค่ไหน อุตสาหกรรมใดมีเครื่องจักรมาช่วยอาจเหลือเพียง 5% แต่อุตสาหกรรมใดใช้แรงงานเยอะย่อมส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้ติดตามเรื่องต้นทุนต่างๆ ต่อเนื่อง ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเป็นหลักอีกทั้งค่าแก๊สและค่าขนส่ง ต้นทุนเรื่องกระบวนการผลิตก็เพิ่มขึ้นรวมถึงค่าไฟ โดยแต่ละธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากันแต่อุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้ามากจะได้รับผลกระทบมากกว่าและส่งผลไปยังสินค้าที่ผลิตและจะส่งต่อไปถึงผู้บริโภคด้วยเช่นกันซึ่งการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็จะส่งต่อไปยังผู้บริโภค ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องพิจารณาให้รอบคอบ
นอกจากนี้ การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มส่งผลต่อธุรกิจแตกต่างกันไป ซึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานสูงแต่บางธุรกิจที่มีการปรับตัวมาบ้างแล้วโดยการใช้เครื่องจักรทดแทนอาจได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวของผู้ผลิตแต่ละราย แต่ถ้าธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงที่มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่กำลังแข่งขันกันมีโอกาสที่รายเล็กรายย่อยจะล้มหาย
สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานในการผลิตเริ่มตั้งแต่ต้นทางเรื่องการทำเกษตรในการแปรรูปอาหารจะมีสินค้าบางรายการที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน เช่น พืชผักผลไม้ หรือ ปศุสัตว์ที่ยังไม่สามารถหาเครื่องจักรทดแทนได้ 100% กลุ่มนี้ยังต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้านเมื่อแบกภาระต้นทุนสูงขึ้นผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งสุดท้ายก็จะตกไปถึงผู้บริโภค
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 สิงหาคม 2565