เอเปคผนึก ดันท่องเที่ยว ฟื้นทั้งภูมิภาค
ถือเป็นการเริ่มต้นประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมการประชุมกว่า 200 คน ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา และนับเป็นการประชุมออนไซต์ครั้งแรกหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วย
จากนั้นวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้สรุปผลการประชุมครั้งนี้ ที่ถือว่าได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะประเมินว่าจังหวะของการจัดประชุมครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่จะประกาศให้ทั่วโลกได้รู้ว่าไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ชาวต่างชาติที่ทราบข่าวจะได้จองเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ช่วงเดือนตุลาคม-ธันาวาคมของปีนี้พอดี
โดยผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปคปี 2563-2567 เน้นหารือแนวทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเดินทางท่องเที่ยวในระยะต่อไป และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแต่ละเขตเศรษฐกิจ รวมถึงหารือถึงวิธีการรักษาสถานะของการท่องเที่ยวในฐานะภาคส่วนที่สร้างประโยชน์และความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเปค
ในที่ประชุมแสดงความกังวลเรื่องโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ถือเป็นความท้าทายและอุปสรรคต่อการพัฒนาการการท่องเที่ยวทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดมาอย่างยาวนาน รวมถึงจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นสูง ทำให้มีผลกระทบต่อต้นทุนการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยกัดกร่อนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในการเดินทางท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องในการร่วมมือกัน เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละประเทศการขนส่งสินค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนแรงงานแบบไม่มีอุปสรรคในการท่องเที่ยว ตลอดระยะเวลาการประชุม ทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันเจรจาร่างถ้อยแถลง และบรรลุฉันทามติได้ในทุกย่อหน้า จำนวน 20 ย่อหน้า ยกเว้นเพียง 1 ย่อหน้าที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ไม่สามารถหาฉันทามติกันได้ จึงได้ผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงประธาน หรือ Chair Statement
รมว.ท่องเที่ยวระบุอีกว่า การประชุมครั้งนี้ เราสามารถรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม รวมถึงการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน และ 2.คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ฉบับปรับปรุง ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของเอเปคในปีนี้ ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวสำคัญของเอเปคในการก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.2040 และเพื่อให้เราทำงานต่อไปข้างหน้า
สำหรับประเด็นที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติจนออกร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีเอเปค และต้องเปลี่ยนเป็นได้ถ้อยแถลงประธานแทน เนื่องจากผู้แทนจากจีนไม่เห็นด้วยที่ในร่างแถลงการณ์ในย่อหน้าที่ 2 เพียงย่อหน้าเดียว ที่มีคำว่า สงบสุข (peace) และความมั่นคง (stability) แม้มีบางประเด็นที่ยังมีสมาชิกติดขัดอยู่ จนไม่สามารถประกาศบรรลุฉันทามติได้ แต่ไทยก็คาดหวังว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะได้รับจากการนำเสนอแนวร่วมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง สร้างระบบให้ชาวบ้านมีอาชีพ สามารถพึ่งพาตัวเอง สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่มีฐานะเป็นเจ้าบ้าน ในทุกแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุขกับการเติบโตของการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนได้รับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม
เราหวังว่าการผลักดันประเด็นการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ไม่เพียงแต่ประเด็นการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว แต่จะครอบคลุมถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ของไทย คือ Open, Connect, Balance. หรือเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล
ในด้านมุมมองของผู้ประกอบการเอกชนด้านท่องเที่ยว อย่าง นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ความต้องการของภาคเอกชน ตอนนี้ต้องการให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวไทยแบบเป็นรูปธรรม หมายความว่า ต้องมีขั้นตอนออกมาอย่างชัดเจน ว่าระยะเริ่มต้นจะทำอย่างไร ต่อไปควรทำอย่างไร เพื่อให้ได้อะไรเป็นเป้าหมาย เนื่องจากในตอนนี้สิ่งที่พูดถึงกันเป็นหลัก และพูดกันมานานแล้ว เป็นเรื่องแนวคิดในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ยังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการเดินหน้าตามแนวคิดต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องทำแผนมาว่าระยะที่ 1 เป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรบ้าง ภายในกี่ปีจึงจะเห็นผลชัดเจนแบบนี้มากกว่า
ตอนนี้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนและสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ผ่านโครงการระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาล ตามแนวคิดที่วางไว้ แต่อยากให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน ลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงแนวคิดหรือแผนงานเท่านั้น นายชำนาญเผย สิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้นคือ การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เพราะภาคการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเท่านั้น
แต่เป็นเรื่องของทุกกระทรวง และทุกหน่วยงาน อาทิ การผลักดันเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ ก็กำหนดเจ้าภาพในการดำเนินการอย่างชัดเจน ยกหน้าที่ให้กระทรวงวัฒนธรรมวางแผน และจัดสรรงบประมาณลงไป หรือการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทยขึ้นมา อาทิ เว็บไซต์จองโรงแรมที่พัก แบบไม่ต้องพึ่งพาเว็บของต่างชาติ รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำงานร่วมกับภาคเอกชน เนื่องจากเอกชนคือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างแท้จริง เป็นผู้รู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงในแวดวงธุรกิจด้านต่างๆ นั่นคือความเห็นจากภาคเอกชน เห็นภาพชัดว่า การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย มีทั้งความน่ากังวลรออยู่
แต่เชื่อว่าด้วยความร่วมมือภายหลังการประชุม รมต.ท่องเที่ยวเอเปค น่าจะมีแนวโน้มและโอกาสที่ดีของการท่องเที่ยวรออยู่
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 สิงหาคม 2565