ความตกลง RCEP ครึ่งปี ดันการค้าไทย 1.69 แสนล้าน

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
 
ข้อตกลงฉบับนี้ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อตกลง FTA ทั้งสิ้น 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้สร้างแต้มต่อด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับประเทศไทยอย่างมาก ในช่วง 6 เดือนแรก 2565 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้า 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% และนำเข้า 90,869 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตามกราฟิก)
 
สัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 135 ปี :
 
ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาด 1 ใน 2 ตลาดการค้าหลักของไทยใน RCEP กำลังจะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ญี่ปุ่น 135 ปี มีแผนจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้า การลงทุน
 
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (สำนักงานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โอกาส MSMEs ไทยและญี่ปุ่น : เจาะลึกการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP”
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2539-2564 ผู้ประกอบการและนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 6,000 บริษัท ลงทุน กว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่เข้ามา เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น นับว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การเงิน ประกันภัย ค้าส่ง-ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมด้วย
 
นอกจากนี้แล้ว ไทย-ญี่ปุ่นยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันถึง 3 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเจเทปปา บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) หรือเอเจเซ็ป บังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552
 
และความตกลงล่าสุด RCEP ทำให้ประเทศไทยได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลง เฉพาะเจเทปปาและเอเจเซ็ป 80% ของสินค้าส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์ และเชื่อว่าจากข้อตกลง RCEP ล่าสุดจะทำให้ไทยได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น
 
นางอรมนกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ล่าสุด อาร์เซป โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ไฮโดรควีโนน เชื้อปะทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา คาดหวังว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
 
เจโทรหนุนใช้อาร์เซป :
 
นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ความตกลง RCEP สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหลายประการ เช่น ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น
 
นอกจากนี้ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น ช่วยให้การค้าราบรื่นจากที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
 
และมีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในช่วงครึ่งปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.)
 
การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
 
RCEP ลุ้นรับสมาชิกใหม่ :
 
นางสาวจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ความตกลง RCEP ตั้งแต่ที่ประเทศสมาชิก 13 ประเทศได้ให้สัตยาบัน และส่งผลให้ความตกลงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี
 
ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกก็อยู่ระหว่างเร่งรัดให้อีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดำเนินกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะได้ลงนามสัตยาบันต่อไป โดยคาดหวังว่าจะเห็นการดำเนินการและลงนามได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อตกลงอาร์เซปมีความสมบูรณ์และเชื่อมโยงและเชื่อมต่อการค้า การลดภาษีในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ
 
“ข้อตกลงอาร์เซปเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุด มีการค้า การลงทุนเป็นจำนวนมาก 1 ใน 3 ของโลก มีจีดีพี 31.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก และมีการค้ารวม 13.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 31.5% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งถือว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ”
 
โดยภายใต้ข้อตกลง RCEP ก็พร้อมที่จะเปิดรับสมาชิกที่สนใจเข้าร่วม หากอินเดียเปลี่ยนใจที่จะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกยิ่งจะส่งผลให้ตลาดใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ นับจากมีผลบังคับใช้ไปอีก 18 เดือน RCEP พร้อมจะมีการเปิดรับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่สนใจเข้าร่วม เช่น ฮ่องกงและชิลี จะช่วยเชื่อมต่อการค้าได้มากขึ้น
 
ข้อตกลงอาร์เซปซึ่งมี 20 บทบาทความตกลงที่ได้มีการหารือและความตกลงใหม่ที่ข้อตกลงฉบับอื่นไม่มี เช่น การส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายการค้า การส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองจำเป็นที่จะต้องศึกษาและใช้โอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการค้า การส่งออกในตลาดโลกได้
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 สิงหาคม 2565      

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)