"อาเซียน" ติดตามการทำงาน 19 ประเด็นเศรษฐกิจ ลุยอัพเดตเอฟทีเอเก่า-ใหม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน กำหนดจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 54 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11-18 กันยายนนี้ ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยการประชุมครั้งนี้ จะพิจารณาและติดตามการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) ในประเด็นสำคัญที่จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการขยายตัวของการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งจะมีการหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รัฐมนตรีการค้าประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 12 ประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน
นางอรมน กล่าวว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะพิจารณาวาระสำคัญ อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ในส่วนเสาเศรษฐกิจ และติดตามการดำเนินการด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาตั้งเป้าให้สำเร็จในปีนี้ รวม 19 ประเด็น ภายใต้แนวคิดหลัก “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together” อาทิ การลงนามร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกผู้ให้บริการและนักลงทุนอาเซียนเข้าถึงข้อมูลการเปิดตลาด การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการให้ความเห็นชอบต่อร่างแผนดำเนินงานตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2023-2030 เพื่อกำหนดขอบเขตงานและกิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ จะหารือกับรัฐมนตรีการค้าประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร เพื่อขับเคลื่อนการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา อาทิ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา ตลอดจนพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศดังกล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก จะร่วมประชุมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระยะยาวและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสนับสนุนความสำเร็จของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) จะนำเสนอความคืบหน้าโครงการที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของอาเซียนในการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) การค้าของไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 64,756 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 37,295 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 18% และนำเข้าจากอาเซียน 27,461 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 กันยายน 2565