เก็บแน่! ค่าเหยียบแผ่นดิน "พิพัฒน์" ชง ครม.สัปดาห์หน้าดันใช้กลางปีนี้
"พิพัฒน์" เตรียมชง ครม. สัปดาห์หน้า ไฟเขียวค่าเหยียบแผ่นดิน เข้าทางอากาศ 300 บาทต่อคนต่อครั้ง ทางบก–น้ำ 150 บาทต่อคนต่อครั้ง ดันใช้กลางปีนี้ ด้าน สทท. คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเกิน 30 ล้านคน สร้างรายได้ทุบสถิติ 3 ล้านล้านบาทในปี 62 แต่ท่องเที่ยวทั้งระบบยังขาดแรงงานอีก 5.6 แสนคน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ว่า ที่ประชุมได้สรุปการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ คือ 1.การเก็บค่าธรรมเนียมทางอากาศ 2.การเก็บค่าธรรมเนียมทางบก และทางน้ำ และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า หากไม่มีข้อทักท้วง หรือข้อสั่งการเพิ่มเติมจาก ครม. กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะนำร่างดังกล่าวไปประกาศตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมมีผลบังคับใช้ได้ตามกำหนดคือ กลางปี 66
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางอากาศยาน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยโดยอากาศยาน ต้องชำระค่าธรรมเนียม 300 บาทต่อคนต่อครั้ง ยกเว้นผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้ควบคุมและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน ทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี และบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้สายการบินจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวมกับค่าโดยสาร และให้แสดงอัตราค่าธรรมเนียมไว้ในบัตรโดยสาร หรือเอกสารอื่น ส่วนทางบก และทางน้ำ อัตรา 150 บาทต่อคนต่อครั้ง เฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองโดยใช้พาสปอร์ต และยกเว้นให้ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ผู้มีบัตรผ่านแดนชั่วคราว ข้าราชการที่ต้องเดินทางเข้าออก และแรงงานที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ
ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปี 66 สทท.ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทะลุ 30 ล้านคน สร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่เคยทำได้ในปี 62 ก่อนวิกฤติโควิด-19 แต่ความท้าทายคือ การเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการกลับมามีความสามารถในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังบอบช้ำ ขาดสภาพคล่อง ขาดความรู้ ขาดเทคนิคการตลาดสมัยใหม่ และขาดบุคลากร ซึ่ง สทท.ได้เร่งประสานกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขแล้ว
ด้าน น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 4/65 ว่า อยู่ที่ระดับ 72 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3/65 และฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนไตรมาส 1/66 คาดสถานการณ์จะดีขึ้น โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 77 “สถานประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแรงงานกลับมา 86% ของภาวะปกติ ยังขาดอยู่อีก 14% หรือ 560,000 คน แต่จากการสำรวจพบว่า สถานประกอบการมีแผนจะจ้างอย่างน้อย 13% หรือจ้างเพิ่มอย่างน้อย 520,000 คนเท่านั้น”
ทั้งนี้ ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย มีแผนการจ้างงานเพิ่มมากที่สุด รองลงมาคือ สถานบันเทิง นอกจากนี้ยังพบว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการเพิ่มชั่วโมงทำงาน ขึ้นเงินเดือน หรือจ้างทำงานล่วงเวลา (โอที) บางสถานประกอบการจ้างฟรีแลนซ์ หรือดึงตัวพนักงานจากที่อื่น โดยให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า หรือให้สวัสดิการที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการเกือบทุกประเภท มีแผนขึ้นราคาสินค้าและบริการไตรมาส 1/66 โดยร้านอาหารมีแผนขึ้นราคาสินค้ามากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจนำเที่ยว
ขณะที่นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน เป็นไปได้แน่ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ส่วนตลาดจีน โควิด-19 สร้างความบอบช้ำให้เศรษฐกิจจีนมาก การประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ต้องดูทีละไตรมาส แต่คาดจะเริ่มมาไทยมากขึ้นไตรมาส 3 ปีนี้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์